ถ้ามีคนถามผมว่าลำโพงวินเทจยี่ห้อนี้รุ่นนี้เสียงดีมั้ย? ผมจะถามกลับทุกครั้งว่าใช้ฟังเพลงแบบไหน? คำตอบส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงแจ๊ส และเพลงร้อง ผมก็จะมีคำถามที่สองตามไปอีกว่าเป็นแจ๊สยุคไหน? เพราะลำโพงวินเทจจะให้เสียงออกมาสมบูรณ์แบบก็ต้องฟังเพลงในยุคของมัน อย่าง JBL Hartsfield ก็ต้องเป็นแจ๊สยุคเก่าเนื่องจากเบสส์ของลำโพง Hartsfield ลงได้ไม่ลึกเป็นลูกเหมือนกับลำโพง JBL รุ่นหลัง (แต่ถ้าจัด System Matching ลงตัวได้ Hartsfield จะสำแดงเดชได้สุดยอดครับ) หรืออย่าง JBL Monitor รุ่น 43xx พวกนี้ก็ไม่เหมาะกับแจ๊สยุคเก่าเนื่องจากให้เสียงกลางไม่ใหญ่ดิบแผดเหมือนลำโพง JBL รุ่นแรกๆทำให้อรรถรสการฟังเครื่องเป่าไม่สนุกเท่า เคยถามตัวเองเหมือนกันว่าแล้วมันมีมั้ยลำโพงวินเทจที่ฟังเพลงได้หลายยุคหลายสมัย???
ผมเองเคยคิดว่ามันไม่มีเพราะลำโพงวินเทจแต่ละยี่ห้อจะมีบุคลิคของตัวเองชัดเจน ต้องเรียกว่าใครรักค่ายไหนชอบค่ายไหนก็ว่ากันไป จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสประกอบลำโพงมอนิเตอร์ RCA LC-1A ในตู้ RCA MI-11401 แท้ๆ ก็พบกับ “วินเทจมอนิเตอร์สารพัดนึก” ฟังเพลงได้หลากหลายยุคตั้งแต่แจ๊สเก่าแผ่นบลูโน๊ต เพลงร้องสไตล์โอล์ดีย์ ร็อค ฟังค์ ดิสโก ยันออดิโอไฟล์ ยังไม่ได้ลองกับเพลงเฮฟวีย์เมทัลนะครับ ฮา!
ลำโพง RCA LC-1A ผมมีโอกาสได้ลองฟังครั้งแรกจากนักเล่นวินเทจท่านหนึ่งได้มีโอกาสยกเฉพาะตัวไดร์เวอร์เปล่าๆมาลองฟังกันแบบไม่มีตู้ พบว่าเป็นลำโพงที่ให้เสียงกลางแหลมน่าฟัง เลยทำ Open Baffle จากไม้มะค่าทั้งแผ่น เพื่อยกไปเปิดให้สมาชิกของเพจ “Keep it Analog” ในงานประจำปีครั้งที่สาม งานในปีนั้น JBL Paragon คือพระเอกของงาน RCA LC-1A เลยไม่ได้มีโอกาสสำแดงเดชอะไรมากนัก หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ลองเล่นกับตู้ติดผนัง RCA MI-11406 ตู้แท้ เสียงยังไม่ค่อยลงตัว เสียงย่านความถี่ต่ำยังไม่ดีนัก เลยลองหาตู้ RCA MI-11401 หรือตู้ที่นักเล่นวินเทจบ้านเราเรียกว่า “ตู้เอลวิส” เนื่องจากถ้าลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ RCA LC-1A จะเจอรูปห้องอัดเสียง Studio A ที่มีรูปถ่ายของ Elvis Presley คู่กับลำโพง RCA LC-1A ที่ใช้เป็นมอนิเตอร์ในห้องอัด Studio A
RCA LC-1A จริงๆแล้วคือชื่อเรียกไดร์เวอร์กรวยกระดาษแบบ Coaxial ที่ออกแบบโดย Harry Olson ในช่วงปลายยุค 1940s ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเป็นลำโพงเมื่อ 77 ปีที่แล้ว!!! โดยผลิตออกมาในรุ่น MI-11411 ซึ่งเรียกรวมทั้งไดร์เวอร์พร้อมตู้ เป็นลำโพงที่ให้การตอบสนองความถี่ได้กว้าง ความเพี้ยนต่ำ จึงมีความเหมาะสมกับการใช้งานในการฟังแบบไฮไฟได้ดี ลำโพงที่ Harry Olson ออกแบบจะเป็นลำโพงแบบกรวยคู่ หรือ่ duo-cone แยกกรวยสำหรับความถี่สูง และความถี่ต่ำเป็นอิสระต่อกัน โดยทวีตเตอร์กรวยกระดาษจะติดตั้งอยู่ในช่องวอยซ์คอย์ของวูฟเฟอร์กรวยกระดาษ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องเฟสของเสียง ตัวตู้ลำโพง RCA MI-11411 ภานนอกดูคล้ายกับตู้ MI-11401 แต่ไดร์วเวอร์จะติดตั้งจากด้านหน้าตู้ ตัวไดร์วเวอร์ที่ติดตั้งมาด้วยจะไม่มีตุ่มแหลมๆที่กรวยลำโพงวูฟเฟอร์ และไม่มีปีกผีเสื้อกระจายเสียงที่ทวีตเตอร์
ส่วนตู้ RCA MI-11401 เป็นตู้เบสส์รีเฟล็กซ์ ติดตั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆเช่น Power Attenuator และชุดสำหรับติดตั้งมอนิเตอร์แอมป์ RCA BA-4 ติดตั้งไดร์เวอร์จากด้านใน ขนาดตู้สูง 40.5 นิ้ว กว้าง 27.5 นิ้ว และลึก 15 นิ้ว สีของตู้จะมีสองสีคือสีเทา นิยมใช้งานในสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ และสตูดิโอบันทึกเสียงในยุค 1950-1960 ส่วนตู้ MI-11401A จะเป็นสีวอลนัต นิยมใช้งานในการฟังแบบสเตอริโอ จึงมักพบตู้ MI-11401A กันเป็นคู่ ลำโพง RCA LC-1A ยังมีการใช้งานมาต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปลายยุค 1980 นักเล่นวินเทจพบว่า RCA MI-11401 กับไดร์วเวอร์ LC-1A ให้เสียงได้ยอดเยี่ยมมาก ทำให้ ลำโพง RCA MI-411401 ถูกนำออกจากสถานีส่ง และสตูดิโอ เพื่อนำมาใช้ฟังเพลงในบ้าน และถูกส่งออกจากอเมริกาไปเป็นจำนวนมาก
หลังจากถอดไดร์วเวอร์ RCA LC-1A จากตู้ติดผนัง RCA MI-11406 มาลงตู้ RCA MI-11401 ต่อสายเข้ากับขั้วต่อลำโพงที่อาศัยยึดลงบนรูต่างๆบนหน้าปัทม์เดิมที่ทำมาสำหรับยึดอุปกรณ์เสริม รูไหนไม่ใช้จะให้ดีก็ควรทำการปิดให้เรียบร้อยครับ ลองฟังเสียงแรกพบว่าเสียงย่านความถี่ต่ำที่ตามหามากันครบเครื่อง กลางแหลมเดิมที่ค่อนข้างติดแห้ง กลับมีน้ำมีนวลขึ้นมาในทันที การตอบสนองเต็มย่านความถี่เสียง เสียงกลางมีมวลอิ่มใหญ่ในแบบลำโพงวินเทจ เสียงแหลมที่มีประกายน่าฟัง เบสส์ลงได้ลึกอิ่มแน่นเป็นลูก สามารถฟังเครื่องเป่าดิบแผดได้แบบลำโพงฮอร์น และฟังเพลงออดิโอไฟล์ได้ดีเยี่ยม ถ่ายทอดทุกเสียงออกมาถูกต้องสมบูรณ์ และประนีประนอมกับทุกสไตล์เพลงครับ ใครมีโอกาสได้ฟัง RCA MI-11401 ตู้แท้ๆแล้วจะเกิดความยากครอบครองตามมาพลัน ปัญหาที่ตามมาคือ…ลำโพงตัวนี้หาได้ไม่ง่ายนักสิครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม
- http://www.scottymoore.net/RCASpkr.html