ถ้าให้นึกเบอร์หลอดซิงเกิลเอ็นด์ไตรโอดมาสักสามเบอร์ เบอร์ 300B คงเป็นเบอร์แรกที่นักเล่นมิใครต่อใครก็ต้องบอกออกมาเป็นแน่ แล้วเคยสงสัยกันมั้ยครับว่าทำไมหลอดเบอร์นี้จึงเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางนัก? ย้อนกลับไปราวๆปี ค.ศ. 1930 อเมริกันชนทั่วไปจะมีโอกาสฟังเสียงจากระบบเสียงที่ให้คุณภาพเสียงเต็มย่านจากเครื่องขยายเสียงหลอดในโรงภาพยนตร์เท่านั้น เพราะในยุคนั้นการฟังเพลงจะใช้แผ่นครั่งสปีด 78rpm เล่นผ่านฮอร์นปากแตรที่ขยายเสียงจากหัวเข็มในแบบอะคูสติคเสียงออกจะกระป๋องกระแป๋งมาก ยิ่งวิทยุกระจายเสียงในยุคนั้นคุณภาพเสียงไม่ต้องพูดถึง ดังสถานที่ใช้ฟังเพลงได้สมบูรณ์แบบที่สุดก็ต้องเป็นโรงภาพยนตร์
ในยุคนั้นนับเป็นยุคเริ่มต้นพัฒนาของอุตสาหกรรมระบบเสียงเลยก็ว่าได้ บริษัทใหญ่ๆต่างทุ่มเทลงทุนทางวิศวกรรม ให้เกิดการวิจัยและพัฒนาระบบเสียงกันอย่างหนัก สนามแข่งขันที่ดีที่สุดก็คือโรงภาพยนตร์ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างทุ่มสรรพกำลังที่จะบุกบั่นครอบครองส่วนบางการตลาดให้ได้มากที่สุด สอดรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด ทำให้เกิดโรงภาพยนตร์หลายพันโรง กระจายทั่วอเมริกาอย่างรวดเร็ว
คู่กัดที่สมน้ำสมเนื้อกันในยุคนั้นคงหนีไม่พ้น ระบบเสียง Photophone ของ RCA และระบบเสียง Mirrophonic ของ Western Electric ทั้งสองบริษัทได้พัฒนาเครื่องเสียงในโรงภาพยนตร์แบบครบวงจร ทั้งระบบการบันทึกเสียง การเล่นกลับ ไมโครโฟนไปจนถึงลำโพง หากเปิดหนังเก่าๆดูจะเห็นการให้เครดิตกับระบบเสียงของ RCA และ Western Electric เวลาจบภาพยนตร์ด้วย ใครจะรู้ว่าหนังการ์ตูนอย่างป๊อบอายใช้ระบบเสียงของ WECO (ชื่อเรียกของ Western Electric)
ในปัจจุบันแม้จะผ่านยุคทองของระบบเสียง Mirrophonic ของ Western Electric ไปนานโข บรรดาเครื่องเสียงอุปกรณ์จะถูกโล๊ะจากโรงภาพยนตร์ไปจนหมดสิ้น แต่อุปกรณ์เหล่านี้กลับกลายมาเป็นวินเทจราคาแพง ที่นักเล่นทั่วโลกหมายปอง และควรค่าแก่การเก็บสะสมไปแทบจะทุกชิ้นเช่น ลำโพง WE 16B เป็นของประเมินค่ามิได้ไปซะแล้ว หรือชุดระบบเสียง WE 59B ก็เช่นกัน ยิ่งเป็นระบบสมบูรณ์แบบเลยก็ไม่ต้องพูดถึง เอาง่ายๆแค่สายไฟของ Western Electric ก็ซื้อขายกันก็ได้ราคาแล้วครับ
เครื่องเสียงในโรงภาพยนตร์ในยุคนั้นหากนับกำลังขับจะเห็นว่าใช้กันไม่ถึง 10 วัตต์ เป็นเพราะลำโพงที่ใช้งานกันเป็นลำโพงฮอร์นความไวสูงมาก (ย้ำว่ามากๆ) เพียงใช้เครื่องขยายเสียงหลอดไม่ถึงสิบวัตต์ก็ดังลั่นโรงขนาดใหญ่แล้ว กลับกันกับทุกวันนี้แค่มินิเธียร์เตอร์ก็ต้องอาศัยเพาเวอร์แอมป์กำลังขับว่ากันเป็นร้อยวัตต์เลยครับ
ในยุคนั้นเครื่องขยายเสียงยอดนิยมของ Western Electric มีด้วยกันสองรุ่นคือ Model 86 และ Model 91 โดยที่ Model 86 เป็นแอมป์แบบพุชพูลกำลังขับ 15 วัตต์ใช้หลอดไตรโอดเบอร์ WE 262 สามหลอดขับผ่านหม้อแปลงไปยังหลอดเพาเวอร์ไตรโอด WE 300B สองหลอด ในขณะที่ Model 91 กลับเป็นแอมป์ซิงเกิลเอ็นด์ที่ให้กำลังขับเพียงครึ่งหนึ่ง (8 วัตต์) ใช้หลอดเพนโทด WE 310A เป็นไดร์เวอร์ ทั้งสองรุ่นเป็นส่วนหนึ่งของระบบโรงภาพยนตร์ของ Mirrophonic (อีกชื่อหนึ่งของ Western Electric) หลอดเพนโทด WE 310A เรียกได้ว่าเป็นหลอดคู่บารมีของ WE 300B เลยก็ว่าได้ เพราะมันเกิดมาเพื่อขับหลอด WE 300B ใน Model 91 โดยเฉพาะ
Model 91 ถูกมองว่าเป็นรุ่นประหยัดของชุดขยายเสียง Mirrophonic เนื่องจากใช้หม้อแปลงน้อยกว่าทั้งอินเตอร์สเตจ และโช็ค ทำให้เกิดความแพร่หลายมากกว่า Model 86 ยิ่งเทียบกับชุดของ RCA ที่ใช้หลอด 2A3 กำลังขับ 4-5 วัตต์ ด้วยแล้วยิ่งทำให้ Model 91 ครองจำนวนโรงภาพยนตร์ได้เยอะกว่า เชื่อมั้ยครับว่าสเปคของ Model 91 ในยุคนั้นแทบจะเป็นของโลว์เอ็นด์ในยุคนี้เลยครับ เพราะตอบสนองความถี่แคบมากเพียง 50-8,000 เฮิร์ซเท่านั้น หรือเสียงประมาณวิทยุเอเอ็มเท่านั้น! แต่ Model 91 กลับเป็นตัวที่ทำให้คนทั่วทั้งโลกรู้จักกับหลอด WE 300B และหากคิดจะมองหาแอมป์ซิงเกิลเอ็นด์ใช้หลอด 300B สักตัวหนึ่ง เพื่อให้ได้เสียงในแบบฉบับ Western Electric แท้ๆก็ต้องเป็นModel 91 นี่แหละครับ
ถ้าท่านอยากได้ Model 91 เดิมๆเลยที่เดียวในโลกนี้ครับ ท่านคิดว่าที่ไหน? อเมริกา รึ? มิใช่ครับแต่เป็นที่ญี่ปุ่นครับ ถูกต้องแล้วครับเพราะพี่ยุ่นเค้าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Western Electric เลยก็ว่าได้ ไม่ว่าอะไรที่เป็นระบบเสียงของ Western Electric พี่แกเล่นไปกวาดมาจนหมดเลยครับ เรียกได้เลยว่าคลั่ง Western Electric กันเป็นลัทธิเลยก็ว่าได้ นักเล่นนักสะสมจีน และเกาหลี ก็ไปไล่เก็บต่อจากญี่ปุ่นอีกที อย่างเกาหลีนี่สามารถทำฮอร์น Western Electric 16A ขึ้นมาใหม่ได้เลย นักเล่นบ้านเราไปสั่งซื้อจากเกาหลีมาร่วมสิบกว่าชุด แต่เพาเวอร์แอมป์ Western Electric Model 91 แท้ๆหายากมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วตกไปอยู่ในมือของนักสะสมเครื่องเสียงวินเทจไปจนหมด นานทีถึงจะมีโผล่มาในสนามประมูล ราคาจบเลือดสาดกันเลยทีเดียว แต่ถ้าหากหาตัวจริงไม่ได้ก็หาตัวที่สร้างขึ้นมาใหม่เลยสักเครื่องสิครับ
มนต์ขลังหลอด 300B ถือกำเนิดมาจาก Bell Labrolatories Record ประมาณปี 1935 หลังจากรุ่นพี่ 300A ได้ถือกำเนิดไป ความแตกต่างของ A และ B คือ ขาไกด์ข้างฐานหลอดต่างองศากัน ทั้ง 300A/B ต่างออกแบบให้นำไปใช้งานกับเครื่องส่งสำหรับงานออดิโอ คุณสมบัติเด่นคือให้กำลังขับสูงกว่า กินไฟต่ำกว่า โดยไม่มีหลอดเบอร์ไหนทดแทนได้ เพราะขาไม่ตรงกันนั่นเอง ถึงแม้ว่าคู่แข่งอย่าง RCA ได้พัฒนาหลอด 50 มาต่อกรด้วยก็ยังไม่อาจทดแทนได้ เนื่องจากขาไม่ตรงกัน และเป็นช่วงปลายของยุคร่วงโรยของเครื่องขนายเสียงหลอดในโรงภาพยนตร์แล้วด้วย แต่กระนั้นหลอด RCA 50 ก็เป็นอีกเบอร์หนึ่งที่ค่าตัวพุ่งไปหลายหมื่นต่อหลอด เรียกว่าสูสีกับ WE 300B หลอด NOS เลยทีเดียว
เหตุผลอีกประการที่ทำให้ Model 91 แพร่หลาย ก็เพราะว่าหาได้ง่าย ใช้งานไม่ยาก เพียงต่อลำโพงเข้ากับแอมป์ แล้วป้อนสัญญาณเสียงก็ฟังเพลงได้แล้ว จึงทำให้ Model 91 แพร่หลายในเครื่องเสียงบ้านในยุคนั้นด้วย คิดง่ายๆครับว่าวิทยุตั้งโต๊ะตามบ้านส่วนมากกำลังขับเพียง 1-2 วัตต์ แล้วเผอิญว่ามีแอมป์ซิงเกิลเอ็นด์กำลังขับสูงถึง 8 วัตต์ ที่หาซื้อได้ทั่วไปมาใช้ นี่มันจะน่าตื่นตาตื่นใจแค่ไหน
แอมป์ WECO Model 91 ถูกสร้างขึ้นโดยเน้นเรื่องเสถียรภาพการทำงาน และความทนทาน ตัวแท่นขึ้นรูปด้วยการเชื่อมอย่างแน่นหนา อุปกรณ์ทุกตัวยึดด้วยสกรูอย่างดี ตัวเก็บประจุสำหรับคัปปลิงสัญญาณเป็นแบบน้ำมันที่ Western Electric ผลิตขึ้นมาเอง ตัวต้านทานแบบคาร์บอนคอมโพสิตใช้ขนาด 2 วัตต์ทั้งหมด และเป็นของ Allen Bradley ที่นักเล่นแอมป์หลอดทุกวันนี้ถวิลหา หลอดเรคติฟายใช้ WE 274B หลอดไดร์วก็ต้อง WE 310A ซ่อนตัวใต้ฝาครอบโลหะปิดมิดชิด
แต่ถ้าอยากจะสร้าง Model 91 หรือมองหาแอมป์ DIY Model 91 สักเครื่องเริ่มต้นอย่างไรดี อันดับแรกหาหลอดก่อนครับ ไม่ได้กวนนะครับ เริ่มจากหลอด WE 310A หายากไม่เบาน่าจะเป็นหลอดที่ถูกที่สุดของ Model 91 ถัดมาเป็นหลอดเรคติฟาย WE 274B (8 ขา) หรือ 274A (4 ขา) ราคาค่าตัวแรง แต่สามารถใช้ WE 422A ทดแทนได้ ให้เสียงในแบบ Western Electric ได้เช่นกัน ถัดมาก็เป็นหลอด WE 300B ขึ้นอยู่กับกระเป๋าอีกเช่นกัน ถ้า WE 300B เก่ารหัส 4 ตัว 3 ตัวหรือฐานสลักราคาก็หลายแสน หรือเป็น WE 300B ผลิตล๊อตสุดท้ายราคาก็ย่อมลงมาหน่อย กล่องไม้ฐานสลักเลขซีรีย์ มีใบรับประกันคุณภาพเรียบร้อย หรือจะเอาแค่เกรด B กล่องอ่อนไม่ตีเลขซีรีย์ ก็สุดแท้แต่ ส่วนเอาต์พุตก็แล้วแต่ชอบสำนักไหนก็ตามสะดวกครับ จะใช้ของญี่ปุ่นก็ Tango, Hashimoto, Tamura อเมริกันก็ Magnequest, Hammond, One Electro หรือจะหาเอาต์พุตที่ใช้แกน 171A ดั้งเดิมมาพันใหม่ก็มีให้เลือกหลายเจ้า บางเจ้าก็จะมีชุดคิตหรือชุดสำเร็จของ 91A ที่ใช้แกน Western Electric แท้ๆในการผลิตหม้อแปลงจำหน่ายเช่นของ P&C ญี่ปุ่น Mr.Wu ฮ่องกง ผมเคยลองเล่น Model 91A ของ Bell Audio คนทำบอกว่าใช้หม้อแปลงของ Mr.Wu ในการผลิต งานสร้างไม่เนี๊ยบนัก แต่ราคาถูกกว่าแอมป์ Replica 91A จากญี่ปุ่นมาก
วงจร Model 91 จริงๆของ Western Electric จะดูยุ่งยากไม่เบา ปกติจะใช้ WE 310A 2 หลอด แต่ในการใช้งานสำหรับฟังเพลงเราใช้ข้างละหลอดก็เพียงพอแล้วครับ ที่เอาเรื่อง Model 91 มาเล่าสู่กันฟังนี้ไม่ได้บอกว่าสุดยอดของวงจร 300B มันต้อง Model 91 นะครับ เพียงแต่อยากจะบอกว่าหลอดเพาเวอร์ไตรโอด 300B โด่งดังมาจวบจนทุกวันนี้ก็เพราะ Model 91 นี้นี่เอง ไหนก็ไหนแล้วอยากยุให้ท่านผู้อ่านลองหา Model 91 Replica เล่นดูสักเครื่องครับ