นอกจากเรื่องเสียงหวานๆของแอมป์หลอดแล้ว เสน่ห์ของแสงส้มๆจางๆจากไส้หลอด 2A3, 300B หรือจะสว่างโร่แบบ 211, 845 ก็ดึงดูดใจให้เราชื่นชมกับเครื่องเสียงหลอด เรียกได้ว่าเสพทั้งเสียง และแสงเลยก็ว่าได้ เคยสงสัยกันบ้างมั้ยครับ ว่าหลอดมันมีแสงสีอื่นบ้างมั้ย? คำตอบคือ มีครับ มีแบบทั้งที่ตั้งใจให้เกิด และไม่ได้ตั้งใจให้มันเกิด
มารู้จักกับแสงที่ไม่ตั้งใจให้มันมีก่อนครับ เราอาจจะคุ้นกับแสงสีน้ำเงินที่เรียกว่า Blue Glow เป็นแสงที่ผู้ผลิตหลอดไม่อยากให้มันเกิดขึ้น เนื่องจากขั้นตอนการผลิตหลอดจะมีการทำให้มันเป็นสูญญากาศด้วยแบเรียม (ที่เราเรียกติดปากว่าปรอทนั่นแหละครับ) ทีนี้เรื่องมันมีอยู่ว่าบางครั้งในขั้นตอนทำสูญญากาศกลับมีก๊าซบางอย่างหลงเหลือ เวลาหลอดทำงานมันจะเกิดแสงสีต่างๆขึ้น สีที่เกิดบ่อยที่สุดคือสีน้ำเงินเลยเรียกว่า Blue Glow
การเกิดแสงนี้เรียกว่าปรากฏการณ์ Geissler ค้นพบโดย Hein Geissler ประมาณปี 1850 โดย Geissler จะเติมก๊าซนีออน, อาร์กอน และอากาศ ลงในกระเปาะสูญญากาศ เมื่อจ่ายไฟฟ้าแรงดันสูงเข้าไปจะเกิดการแตกตัวของประจุในก๊าซ แล้วได้แสงออกมาเป็นสีส้ม สีฟ้า สีชมพู หลอด Geissler ที่ใช้กันแพร่หลาย และเราก็คุ้นเคยกันก็คือหลอดนีออนตามโรงหนัง หรือป้าย ที่ดัดเป็นตัวอักษรนั่นแหละครับ
แสง Blue Glow สีน้ำเงินเข้มที่เกิดจากโคโรนาของไฟแรงดันสูงจะเกิดบริเวณรอบๆเพลท หรือผิวแก้ว จะเรียกว่า Fluorescene โดยปกติจะไม่มีผลต่อเสียง หรือการทำงานของหลอดครับ แต่ถ้าเป็นแสงที่เกิดจากก็าซที่หลงเหลือในหลอดมักจะมีผลต่อเสียง แถมบางครั้งมีเสียงรบกวนเช่น เสียงป๊อบ เป็นระยะๆไม่แน่นอน เสียงดังปึ๊ดๆเป็นจังหวะ หลอดพวกนี้บางครั้งวัดด้วยเครื่องวัดหลอดแล้วผลออกมาดี แต่เสียบฟังแล้วอาจจะไม่ดีก็ได้
หลอดที่มีแสง Blue Glow ดีมั้ย? ตอบตรงๆก็ไม่ดีครับ แต่ถ้าไม่มีผลต่อเสียง หรือการทำงานของหลอดนั้นๆก็ไม่เป็นอะไรหรอกครับ คิดเสียว่าเหมือนได้ของแถมให้ดูเล่น แต่ถ้าเกิดเสียงดังปึ๊ดๆตามการกระพริบของแสง Blue Glow นั่นหมายความว่าหลอดนั้นใช้การไม่ได้ซะแล้วครับ
แสงที่ตั้งใจให้เกิดในหลอดมักจะเป็นหลอดเรคติฟาย และหลอดเรกูเลเตอร์ เป็นการใส่ก๊าซหรือโลหะบางอย่างเข้าไปในหลอด เมื่อหลอดทำงานก็อาศัยคุณสมบัติของก๊าซ หรือโลหะที่ใส่ลงไปเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของหลอดตามวัตถุประสงค์
หลอดเรกูเลเตอร์ที่นิยมใช้เช่น 0A3, 0C3, 0D3 จะให้แสงสีส้ม, ชมพู และม่วง ตามก๊าซที่บรรจุลงไปเช่น นีออน, คริปตอน คุณสมบัติจากก๊าซที่ใส่ลงไปคือช่วยในการรักษาระดับแรงดันให้คงที่ เช่น 0A3 แรงดันคงที่ 75 โวลต์, 0C3 แรงดันคงที่ 105 โวลต์ และ 0D3 แรงดันคงที่ 150 โวลต์ เนื่องจากหลอดเรกูเลเตอร์จ่ายกระแสได้ประมาณ 40 มิลลิแอมป์จึงมักนิยมใช้รักษาแรงดันให้กับหลอดปรีแอมป์ และหลอดไดร์วเป็นหลัก
หลอดเรคติฟายแบบไอปรอท เช่น 82, 83, 866A/CV32 เป็นต้น หลอดประเภทนี้ใช้การบรรจุโลหะหนักอย่างปรอทลงไปในหลอด เมื่อหลอดทำงานไส้หลอดจะเผาปรอทในหลอดให้ระเหยกลายเป็นไอก่อน เมื่อจ่ายไฟสูงให้กับเพลทจะเกิดแสงสีฟ้าสวยงาม ความสว่างของแสงจะขึ้นอยู่กับโหลด หลอด 866A บางยี่ห้อจะให้แสงสีฟ้าทั่วทั้งหลอดเลยทีเดียวครับ การใช้งานหลอดเรคติฟายประเภทนี้ถ้าโหลดกินกระแสไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องตัดไฟสูงก่อน หรือใช้วงจรหน่วงเวลาเปิดไฟสูง สามารถใช้งานได้เลย แต่กรณีที่โหลดกินกระแสค่อนข้างมากให้เพิ่มสวิทช์เปิดปิดไฟสูง หรือใส่วงจรหน่วงเวลาก่อนจะปลอดภัยกับหลอดกว่าครับ
หลอดเรคติฟายแบบก๊าซ เช่น 3B22, 3B25, 3B28 เป็นต้น หลอดประเภทนี้จะบรรจุก๊าซซีนอนไว้ในหลอด ตอนหลอดทำงานจะให้แสงม่วงสวยงามตรงด้านบนหลอด หลอดประเภทนี้ไส้หลอดจะกินกระแสมากทำให้จุดไส้หลอดนานกว่า ควรใช้สวิทช์เปิดปิดไฟสูง หรือใส่วงจรหน่วงเวลาด้วยก็ดีครับ ถ้าไม่หน่วงมันจะมีเสียง และแสงวาบดูน่ากลัวครับ
คิดเล่นๆนะครับว่าทำแอมป์ 300B มาสักตัวนึงใช้หลอดเรคติฟาย 3B22 สำหรับภาคเพาเวอร์ หลอดเรคติฟาย 82 สำหรับภาคไดร์ว ส่วนปรีใช้หลอดเรกูเลต 0A3 เวลาเปิดใช้งานก็จะมีแสงสีม่วงๆจากหลอด 3B22 แสงสีฟ้าๆจากหลอด 82 และแสงสีส้มๆจากหลอด 0A3 โดยมีแสงส้มๆจางๆจากไส้หลอด 300B เป็นฉากหลัง คงสวยงามดีนะครับ