เวลาดูหลอดที่วางขายตามร้าน หรือตามเว็บไซต์ต่างๆ มักจะมีการบอกสภาพของหลอดด้วยคำบ่งลักษณะหลอดเช่น NOS (New Old Stock) หรือเก่าเก็บ, NIB (New In Box) หรือใหม่แกะกล่อง, NIB/NOS หรือใหม่แกะกล่องแต่เก่าเก็บ, USED หรือใช้งานแล้ว ก็จะมีการบอกค่าการวัดเช่น 38/25 (มักจะวัดด้วยเครื่องมือวัดยอดนิยมอย่าง TV-7), 2500 เป็นค่าโมห์, mA/V เป็นต้น
นอกจากจะมีคำบ่งบอกอายุของหลอดแล้ว ยังมีลักษณะทางกายภาคของหลอดที่บ่งบอกถึงสภาพของหลอดอีกประการหนึ่งนั่นก็คือ สีเงินเงาๆที่ฉาบบนตัวแก้ว หรือแบเรียมที่ฉาบภายในหลอด หรือที่เรียกกันว่าปรอทนั่นแหละครับ อาจจะเคยได้ยินว่าหลอดที่ผ่านการใช้งานแล้ว แบเรียมจะจางลง หรือแบเรียมเปลี่ยนสีหรือมีรอยไหม้แสดงว่าผ่านการใช้งานมาแล้ว ซึ่งก็จริงบ้างไม่จริงบ้างครับ เรามาดูกันว่าจริงๆแล้วไอแบเรียมที่ฉาบนตัวหลอดบอกอะไรเราบ้าง
การเกิดสีเงินเงาๆที่ฉาบบนตัวแก้วจะเป็นขั้นตอนการทำสุญญากาศในกระบวนการผลิตหลอด โดยมากนิยมใช้แบเรียมผสมกับสารอื่นๆแล้วอัด หรือฉาบลงเก็ตเตอร์ (Getter) เมื่อให้ความร้อนกับแบเรียมที่มีจุดเผาไหม้ต่ำกว่าส่วนประกอบอื่นๆ ตัวแบเรียมก็จะสว่างแล้วเผาตัวเองพร้อมกับอากาศ และก๊าซภายในหลอดให้หมดไป ไอที่เกิดจากการเผาไหม้ก็จะไปเกาะที่ผิดแก้วกลายเป็นสีเงินเงาๆที่หลอด ถ้าหลอดรั่วมีอากาศเข้าไปในหลอดสีเงินๆที่ฉาบบนผิวแก้วจะกลายเป็นสีขาว ช่วยให้เราแยกหลอดเสียออกจากหลอดดีได้ง่ายด้วยการพิจารณาแบเรียมภายในหลอด
สีเงินๆของแบเรียมเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือมีรอยไหม้ดำๆ แสดงว่าเป็นหลอดที่ใช้งานแล้วจริงหรือไม่? ก็ไม่จริงเสมอไปครับ เรามักได้ยินคำบอกเล่าที่ว่าหลอดใหม่ๆมันต้องเป็นสีเงินเงาแว๊บไม่มีสีอื่นเจือ หรือมีรอยด่างดำ ถ้ามีสีที่ผิดแผก หรือมีจุดดำเพียงเล็กน้อยก็ไม่ได้ ความเชื่อนี้ผิดครับ มาว่ากันที่สีเงินก่อน การที่แบเรียมมีสีที่ผิดแผกออกไปเกิดจากการเผาไหม้ที่เร็วกว่าปกติ ปกติแบเรียมระเริ่มถูกเผาไหม้จากเก็ตเตอร์ที่อุณหภูมิ 600-700 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 900-1,300 องศาเซลเซียส แบเรียมก็จะลุกไหม้เกิดเป็นแสงสว่างจ้าขึ้น ไอแบเรุยมที่ระเหยออกมาพร้อมกับการเผาอากาศภายในหลอดก็จะไปควบแน่นกับส่วนที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ปกติก็เป็นผิวแก้วบริเวณที่เก็ตเตอร์อยู่ ถ้าการลุกไหม้ของแบเรียมจนเป็นไอเกิดขึ้นอย่างช้าๆ สีเงินที่ไปเกาะที่ผิวแก้วก็จะแวววาว แต่ถ้าการลุกไหม้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดความดันขึ้นในหลอด ส่งผลให้เกิดสีเงินที่ผิดแผกออกไป ถ้ามีก๊าซเฉื่อยเกิดขึ้นในหลอดก็จะทำให้สีเงินคล้ำลงกลายเป็นสีออกน้ำตาลจนถึงดำ ดังนั้นสีของแบเรียมบนตัวหลอดที่ออกคล้ำเป็นสีน้ำตาล หรือดำไม่ได้หมายความว่าหลอดนั้นจะเป็นหลอดที่ผ่านการใช้งานแล้ว
แล้วสีของแบเรียมจะบ่งบอกถึงสภาพหลอดได้หรือไม่? ก็ตอบว่าได้เช่นกันครับแต่การผิดปกติจะเกิดขึ้นรอบๆตัวแบเรียมนั่นเอง เช่นเกิดเป็นขอบขาวๆคล้ายๆควันไฟรอบแบเรียมที่จางลง หรือบางครั้งเกิดเป็นแถบสีรุ้งรอบๆแบเรียมที่จางลง บางหลอดที่ผ่านการใช้งานมาเยอะๆสีของแบเรียมจะกลายเป็นสีส้มๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสีที่เปลี่ยนแปลงไปนี้จะบอกว่าหลอดเหลืออายุการใช้งานน้อย ต้องทำการวัดค่าด้วยเครื่องวัดหลอด เพื่อดูอายุที่เหลือของหลอดอีกทีครับ บางทีหลอดที่ดูแล้วสภาพน่าจะใช้งานมาหนักมาก แต่พอวัดค่าแล้วกลับพบว่ายังเหลืออายุการใช้งานอีกมากโข สีที่เปลี่ยนไปแล้วต้องโยนทิ้งเลยก็สีขาวครับ ถ้าขาวก็โยนทิ้งได้เลยเพราะอากาศเข้าไปในหลอดแล้ว
เพิ่มเติมอีกนิดสำหรับเรื่องรูปร่างของเก็ตเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานของหลอดเลยแต่อย่างใด เพราะเมื่อผ่านขั้นตอนที่ทำให้แบเรียมลุกไหม้ไปแล้ว เก็ตเตอร์ก็หมดหน้าที่ของตัวเอง แต่มันอยู่ในหลอดเอาออกไม่ได้ก็เลยต้องติดไปกับหลอดไปจนตลอดอายุการใช้งาน รูปทรงของเก็ตเตอร์จะเป็นตัวบ่งบอกถึงอายุหลอดไปด้วยครับ เพราะเก็ตเตอร์มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงไปตามกาลเวลา ที่มีการพัฒนาสารประกอบกับแบเรียม และวิธีการฉาบสารลงเก็ตเตอร์ ถ้าดูจากรูปในยุคแรกๆจะเป็นแผ่นโลหะแบนๆมีตุ่มย้ำลงกลางแผ่นโลหะ แล้วค่อยพัฒนามาเป็นลวดเส้นเล็กๆ ในยุคหลังๆก็จะเป็นลวดทรงกลม รูปร่างของเก็ตเตอร์ยังเป็นตัวบ่งบอกถึงแหล่งผลิตหลอดได้ด้วย เช่น เก็ตเตอร์ที่เป็นแผ่นโลหะก็มีทั้งหลอดอเมริกา และหลอดรัสเซียยุคแรกๆ แต่ก็มีความแตกต่างกันในรูปร่างที่สังเกตุได้ไม่ยาก ทรงจานบินหรือ Disc Getter ก็เป็นหลอดรัสเซียครับ ส่วนทรงกลมหนาๆคล้ายแหวนอีแปะก็เป็นหลอดจีน