อุปกรณ์ประเภทพาสซีพว์เช่น R หรือ ตัวต้านทาน, C หรือ ตัวเก็บประจุ (เฉพาะแบบไม่มีขั้ว), ฟิวส์, สายสัญญาณ ฯลฯ มันมีทิศทางการใส่ด้วยหรือ? ปกติอุปกรณ์เหล่านี้จะต่อกลับหัวกลับหางอย่างไรก็ไม่เกิดผลเสียทางไฟฟ้าแต่อย่างใด ในส่วนของสายสัญญาณ และฟิวส์ ท่านที่ใช้งานเครื่องเสียงคอมเมอร์เชียลคงทราบว่ามันมีผลมากบ้างน้อยบ้างตามซีสเต็มที่ใช้งานอยู่ แต่สำหรับท่านที่เล่นเครื่องเสียงหลอดทำเอง อาจจะยังไม่ได้สังเกตุ หรือสนใจถึงผลจากทิศทางของอุปกรณ์ จริงๆแล้วมันเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณาเวลาประกอบแอมป์หลอดขึ้นมาสักเครื่องหนึ่งครับ
ตัวต้านทาน เป็นอุปกรณ์แบบไม่มีขั้ว ใส่ด้านไหนก็ได้ โครงสร้างภายในก็ไม่มีผลต่อการสลับทิศ เช่น คาร์บอนคอมโพสิตจะเป็นแท่งคาร์บอน, คาร์บอนฟิลม์จะเป็นฟิลม์เคลือบแท่งเซรามิค, แบบเมทัลฟิลม์จะเป็นฟิลม์โลหะเคลือบแท่งเซรามิค เป็นต้น จะมีแบบไวร์วาวจะเป็นขดลวดพันรอบแท่งเซรามิค แบบนี้จะพันตามการอ่านตัวอักษร ผมเลยใช้ตัวอักษรบนตัวต้านทานสำหรับกำหนดทิศไปในตัว นอกจากจะทำให้การอ่านค่าง่ายแล้ว ยังดูเป็นระเบียบ ที่น่าสนใจคือเวลาเอาตัวต้านทานมาขนานเพื่อให้ได้ค่าที่ต้องการ จะกลับทิศตัวต้านทานหนึ่งตัว มีการให้เหตุผลไว้ว่า เพื่อให้สัญญาณรบกวนมันหักล้างกันเอง ที่น่าสังเกตุประการหนึ่งคือ ถ้าใช้ตัวต้านทางขนานกันแทนที่จะใช้เพียงหนึ่งตัว เสียงที่ได้จะอิ่มกว่า ผมเห็นในแอมป์ของออดิโอโน๊ตมักใช้วิธีการขนานตัวต้านทานแทบทุกจุดทั้ง R Plate และ R Cathode ในทำนองเดียวกันถ้าใช้ตัวต้านทานตัวโตก็ให้สเกลเสียงตามขนาดของมัน ส่วนชนิดของตัวต้านทาน แน่นอนว่าให้เสียงต่างกัน สำหรับแอมป์หลอดแล้วก็ต้องคาร์บอนคอมโพสิตครับ ปกติผมจะเลือกใช้ยี่ห้อที่ดีที่สุดสำหรับ R Grid, Cathode ครับ ส่วนจุดอื่นๆใช้คุณภาพปานกลางก็พอครับ
ตัวเก็บประจุ แบบไม่มีขั้วสำหรับเชื่อมโยงสัญญาณ เนื่องจากชื่อมันบอกอยู่แล้วว่าไม่มีขั้ว เลยใส่ขั้วไหนก็ได้ บางท่านยึดหลักการเดียวกับตัวต้านทาน คือใส่เรียงตามการอ่านตัวอักษร แต่จริงๆแล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไปครับ ตัวเก็บประจุที่ต่อจากเพลทไปยังกริดหลอดถัดไป หรือต่อจากคาโธดลงกราวด์ ก็ต่อต่างกัน เนื่องจากโครงสร้างของตัวเก็บประจุเป็นชั้นของแผ่นตัวนำและฉนวนพันขนานกันไป มีด้านนอกสุด(Outer Foil)และในสุด (Inner Foil) ที่น่าสนใจก็เป็นส่วนของ Outer Foil ครับ เพราะถ้ามองจากโครงสร้างเราสามารถใช้ฟอล์ยชั้นนอกสุดป้องกันสัญญาณรบกวนได้ ตัวเก็บประจุหลายๆยี่ห้อ เช่น Jensen, Jupiter เป็นต้น ได้มีการกำหนดด้านที่เป็น Outer Foil ไว้โดยใช้เครื่องหมายขีดตั้ง ยกตัวอย่างตัวเก็บประจุของ Jensen เวลานำมาใช้งานเช่นต่อกับเพลทไปยังกริดหลอดถัดไปก็เอาด้านที่มีขีดต่อกับเพลท และด้านไม่มีขีดต่อกับกริด พอมองตามการเรียงตัวอักษร มันกลับอ่านกลับหลังครับ แต่พอต่อใช้งานบายพาสสัญญาณลงกราวด์ก็ให้เอาด้าน Outer Foil ลงกราวด์
สำหรับตัวเก็บประจุที่ไม่มีการทำเครื่องหมาย Outer Foil ก็มีวิธีการหาว่าด้านไหนเป็น Outer Foil ต้องพึ่งพาเครื่องมือวัดอย่างออสซิลโลสโคปครับ วิธีการคือต่อขาทั้งสองข้างเข้ากับปลายหัววัด ตั้งย่านวัดความถี่ให้สามารถอ่านความถี่ต่ำๆได้ เอาตัวเก็บประจุเข้าใกล้กับแหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น หม้อแปลง ให้ดูระดับความแรงที่วัดได้ โดยสลับขั้วตัวเก็บประจุ สังเกตุว่ามีด้านหนึ่งที่ระดับความแรงของสัญญาณรบกวนน้อยกว่า พอได้ว่าแบบไหนสัญญาณรบกวนต่ำกว่าก็ลองดูที่ขาของตัวเก็บประจุว่าเอาด้านไหนลงกราวด์ ด้านนั้นแหละครับเป็น Outer Foil
แต่ถ้าไม่มีทั้งเครื่องหมาย และเครื่องมือก็ลองต่อฟัง แล้วสลับดูครับ ชอบด้านไหนก็ต่อตามที่ชอบเอาเลยครับ
สายฮาร์ดไวร์, สายสัญญาณ ปกติสายสัญญาณจะมีการพิมพ์ตัวอักษรไว้ ก็เรียงตามตัวอักษรได้เลย หรือบางทีก็มีการเขียนลูกศรไว้เลย แต่สายฮาร์ดไวร์กลับไม่มีตัวอักษรหรือเครื่องหมายใดๆเลย การเรียงก็พยายามให้เรียงไปด้านเดียวกันเวลาดึงสายออกจากขดครับ ปกติก็เอาปลายสายเป็นด้านปลายทางของสัญญาณ ในส่วนของสายผลที่เกิดโดยมากจะมาจากขั้นตอนการรีดตัวนำมันจะเกิดผลจากการเรียงของผลึกตัวนำ โดยปกติก็เรียงตามทิศเวลาดึงจากม้วนครับ ถ้าซีเรียสมากก็เอามาลองต่อฟังดูก่อนครับ ถ้าฟังแล้วไม่ต่างก็ด้านไหนก็ได้ แล้วใช้ไปในด้านเดียวกันก็พอครับ
อุปกรณ์เหล่านี้ถึงแม้ไม่ได้มีการกำหนดกฏเกณฑ์ใดตายตัวไว้ แต่การเรียงทิศทางที่ถูกต้องเสมอทำให้แอมป์หลอดที่เราต่อขึ้นมามีเสียงเป็นบรรทัดฐานแน่นอนเสมอ ไม่ใช่ว่าวงจรเดียวกันอุปกรณ์ยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด แต่กลับให้เสียงไม่เหมือนกัน รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้จำเป็นมากในการสร้างแอมป์หลอดแบบโมโนบล๊อก เดี๋ยวเสียงเอียงข้างไปก็แย่เลยจริงมั้ยครับ