เริ่มต้นจากไปได้ลำโพงวินเทจตัวเล็กๆค่าย B&O รุ่น Beovox CX100 ผลิตออกมาใช้ช่วง 1984 – 2003 ผลงานการออกแบบโดย Jacob Jensen ตัวตู้เป็นอลูมีเนียม วูฟเฟอร์กรวยกระดาษขนาดราวๆ 4 นิ้วสองดอก คั่นกลางตู้ด้วยทวีตเตอร์แบบโดมหนึ่งดอก ลองต่อฟังเล่นน้ำเสียงเข้าท่าจัดว่าเสียงดีเกินตัว แต่ยังไม่มีอะไรพิเศษต่างจากลำโพงวางหิ้งปกติ เลยไม่ได้ทำอะไรต่อวางทิ้งไว้อยู่หลายเดือน
เนื่องจากชุดที่ใช้กับ Beovox CX50/CX100 คือ BeoSystem 6500 ซึ่งหายากแถมราคาสูงเกินลำโพงไปมาก ช่วงที่หาข้อมูลเกี่ยวกับ Beovox CX100 ก็ไปสะดุดตากับโครงการพัฒนาระบบ WiFi Streaming ของ HifiBerry ที่ร่วมมือกับทาง Bang & Olufsen ในการเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่นำกลับมาใช้ร่วมกับลำโพงเก่าของทาง B&O เอง นั่นก็คือฮาร์ดแวร์สำเร็จที่ใช้ร่วมกับบอร์ดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก Raspberry Pi ที่สามารถนำเอาลำโพงหลายตัวจากค่าย B&O มาใช้งานในโลกไร้สายได้ ที่น่าทึงคือมันทำให้ลำโพง Beovox CX100 ให้เสียงออกมาดีมากๆ สเกลเสียง ไดนามิค อิมแพ็คเหมือนกับว่าเราฟังลำโพงใหญ่ ทำไปทำมาผมก็ประกอบ Beovox CX100 + Beocreate ไปสิบกว่าคู่แล้ว เลยนำมาเล่าสู่กันฟังอีกรอบครับ
Beocreate ใช้สโลแกนว่า “up-cycling” หรือการนำเอากลับมาใช้ใหม่เพื่อให้รองรับกับการใช้งานในโลกไร้สายบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน โดยทาง HifiBerry พัฒนาบอร์ดเกี่ยวกับระบบเสียงขึ้นมาใหม่ โดยตัวบอร์ดจะมีทั้ง DAC, DSP และเพาเวอร์แอมป์ในตัวแบบ 4 แชนแนล กำลังขับ 30W สองแชนเนล และ 60W สองแชนเนล บอร์ด Beocreate จะใช้งานร่วมกับบอร์ดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก Raspberry Pi ควบคุมการทำงานด้วยซอฟต์แวร์ HifiBerry OS ในการกำหนดพารามิเตอร์ต่างๆให้กับลำโพง เช่น จุดตัดความถี่, การชดเชยความถี่แต่ละย่าน และการกำหนดลักษณะของเสียง โดยค่าพารามิเตอร์ต่างๆจะมีการกำหนดไว้เบื้องต้นสำหรับลำโพง Bang & Olufsen หลายรุ่นได้แก่ Beovox CX50, Beovox CX100, Beovox 3000, Beovox 5000, Beovox RL 6000, Beovox S 35 และ Beovox S 80
การประกอบ Beocreate เข้ากับลำโพงเหล่านี้ ต้องรื้อเอาพาสซีพว์ครอสส์โอเวอร์เน็ตเวิร์คเดิมทิ้งหมด และต่อไดร์เวอร์แต่ละชุดเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ แต่ละแชนแนลของบอร์ด Beocreate เพื่อใช้งานในลักษณะ Bi-Amp จุดตัด และการชดเชยความถี่สั่งงานโดยซอฟต์แวร์ทั้งหมด การทำงานจึงไม่มีการสูญเสียเพราะไม่มีอุปกรณ์พาสซีพว์สำหรับตัดความถี่ให้กับไดร์เวอร์แต่ละตัว ทำให้ไดร์เวอร์แต่ละตัวทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ชุดบอร์ด Raspberry Pi และ Beocreate จะถูกประกบเข้าด้วยกัน ติดตั้งบนโครงพลาสติค สำหรับยึดเข้าไปติดตั้งในตัวตู้ลำโพงได้เลย การต่อไฟเลี้ยงวงจรเข้าก็จะตัดขั้วต่อลำโพงเดิม แล้วติดตั้งขั้วต่อ DC Adapter ภายนอก
การสั่งงานต่างๆจะทำผ่าน Web Browser ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นติดตั้งระบบ เพราะหลังจากโหลด HifiBerry OS เข้าระบบแล้ว จะไม่มีหน้าจอใดๆให้เห็น ต้องทำการเชื่อมต่อ WiFi เข้ากับ Beocreate ทำการเซ็ตอัพตามขั้นตอนนิดหน่อย Beovox CX100 + Beocreate ก็จะทำงานเป็นลำโพง WiFi Streaming ชั้นดีที่ให้เสียงน่าทึ่งมาก แนะนำให้ทำเป็นระบบสเตอริโอ เนื่องจากให้สเกลเสียงที่ครอบคลุมพื้นที่การฟังเพลงได้เต็มที่กว่าข้างเดียวมากครับ ถ้าได้ฟังเสียงจริงๆจากลำโพงเล็กๆจะไม่เชื่อว่ามันจะให้เสียงออกมาได้มโหฬารขนาดนี้ ตอนนี้ Beovox CX100 อาจจะหายากหน่อย แต่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับชุดเล็กฟังง่าย เสียงใหญ่โตจนไม่สะดุดความรู้สึกของคนที่ฟังแต่ลำโพงใหญ่จนติดหูแบบผมครับ