มาต่อกันกับเครื่องเสียงวินเทจที่เป็นเพาเวอร์แอมป์ ซึ่งตัวเลือกมีเยอะมากหลายตัวเรียกได้ว่าหายไปจากตลาดประมูลต่างประเทศเกลี้ยง แต่ถ้าหาได้ก็เป็นเพาเวอร์แอมป์ที่น่าเล่น แม้จะไม่หวือหวาเหมือนกับตัวยอดนิยม แต่คุณค่าไม่ได้ลดลงตามกาลเวลาครับ เพาเวอร์แอมป์วินเทจที่จะกล่าวถึงในตอนนี้ไม่ได้เรียงลำดับตามความนิยม มูลค่า หรือคุณภาพเสียง แต่กล่าวถึงตามลำดับที่นึกออก และยังคงมีวนเวียนในตลาดเครื่องเสียงวินเทจอยู่ครับ
QUAD II เป็นเพาเวอร์แอมป์โมโนหลอด KT66 พุชพูล ไดร์แยกเฟสด้วยหลอด EF86 สองหลอดเรคติฟายเป็นหลอด GZ32 การใช้งานปกติต้องใช้งานร่วมกับปรีแอมป์ QUAD 22 ต้องทำตัวแปลงขั้วต่อ Jone-to-RCA และมีขั้วปลั๊กไฟ Bulgin ก็จะสามารถต่อใช้งานร่วมปรีแอมป์ตัวอื่นๆได้ เครื่องเสียงวินเทจฝั่งอังกฤษอุปกรณ์พาสซีพว์อย่างพวก C Coupling กับ C Cathode มักจะเสื่อมหมด ควรตรวจเช็คก่อนนำไปใช้งาน ไม่งั้นหม้อแปลงเอาต์พุตอาจจะเสียได้ เพาเวอร์แอมป์ QUAD II จะต่อเป็น 15 โอห์มไว้จากโรงงาน ถ้าต้องการเปลี่ยนเป็น 8 โอห์มต้องแกะเครื่องบัดกรีขั้วต่อสายของหม้อแปลงเอาต์พุตกันใหม่
JBL SE-400 เพาเวอร์แอมป์สเตอริโอโซลิตสเตจจะมีตัวถังสองแบบคือ แบบที่ใช้ใส่เข้ากับด้านหลังลำโพง JBL Paragon, Olympus, Sovereign, Apollo กับแบบที่ใช้งานแบบ Standalone ใช้ชื่อรุ่นว่า SE ไม่ได้หมายถึง “Single Ended” แต่จะเป็นชื่อทางการค้าว่า “Solid State Energizer” นักเล่นวินเทจจะเก็บเพาเวอร์แอมป์ตัวนี้เพื่อคู่กับปรีแอมป์ SG520 เนื่องจากเป็นเพาเวอร์แอมป์โซลิตสเตจ ก่อนนำไปใช้งานควรตรวจเช็คให้เรียบร้อยก่อนว่าไม่มีไฟ DC ออกมาที่ขั้วลำโพง ไม่งั้นวอยซ์คอยล์ของลำโพงอาจจะไหม้ได้
Marantz Model 8B, Model 9 เพาเวอร์แอมป์ของ Marantz ผมจะแยกเป็นสองยุค สำหรับ Model 8B กับ Model 9 เป็นยุคที่ Sidney Smith ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเครื่องเสียงของค่าย Marantz สำหรับ Marantz Model 8B เป็นเพาเวอร์แอมป์สเตอริโอ EL34 Push-Pull หลอดไดร์ว 6CG7 หลอดปรี 6BH6 ในยุครอยต่องานระหว่าง Sidney Smith และ Saul Marantz จะมี Marantz Model 8 และ Model 8B ถ้าลองฟังเสียงเทียบกันจะพบว่าเนื้อเสียงต่างกันมาก ส่วน Marantz Model 9 จะเป็นเพาเวอร์แอมป์โมโนหลอด EL34 Parallel Push-Pull กำลังขับสูงถึง 70W ในโหมด Ultra-Linear และ 40W ในโหมดไตรโอด ใช้หลอดไดร์ว ECC88 2 หลอด และหลอดปรี 6CG7 1 หลอด หน้าปัดของ Marantz Model 9 จะมีสองแบบคือแบบหน้าเล็กสำหรับวางบนชั้นวาง และแบบหน้าใหญ่สำหรับติดตู้แรค ราคาต่างกันมากครับ
Marantz Model 5, Model 2 เป็นเพาเวอร์แอมป์โมโนที่อยู่ในยุคของ Saul Marantz เนื้อเสียงจะแตกต่างกับเพาเวอร์แอมป์ในยุคของ Sidney Smith ค่อนข้างมาก ให้เสียงหนาอบอุ่นผ่อนคลายกว่า ทั้งสองรุ่นเป็นเพาเวอร์แอมป์ EL34 Push-Pull โดยที่ Model 2 สามารถเลือกเล่นโหมดเพนโทรด 40W และไตรโอด 20W ได้ แต่ Model 5 จะเป็น Ultra-Linear อย่างเดียว หลอดไดร์ว 6CG7 หลอดปรี 6BH6 ทั้งสองรุ่น แต่หลอดภาคจ่ายไฟต่างกัน Model 5 จะใช้ GZ34 1 หลอด ส่วน Model 2 จะใช้หลอด 6AU4 2 หลอด
McIntosh MC-275 เพาเวอร์แอมป์สเตอริโอ KT88 Push-Pull หลอดไดร์ว 12AZ7 2 หลอด 12BH7 2 หลอด 12AU7 2 หลอด และหลอดปรี 12AX7 1 หลอด เป็นเพาเวอร์แอมป์ยอดนิยมถ้าให้นักเล่นวินเทจยืนเข้าแถวกัน 10 คน จะพบว่ามี MC-275 กันเกินครึ่งเลยทีเดียว ความสวยงามของตัวเครื่อง ความมันวาวของผิวโครเมียม มองกี่ครั้งก็สวยครับ แต่ในความสวยของ MC-275 ถ้าจะไปให้สุดทางจริงๆจะหนักค่าหลอดหน่อย เนื่องจากหลอด KT88 เดิมๆดีๆราคาจะสูงมากทั้ง GEC, Genalex สีน้ำเงิน และที่สุดก็จะเป็น Genalex Gold Lion, Gold Monarch ต้องหลอดเก่าเท่านั้น MC-275 จึงจะแสดงศักยภาพทางเสียงออกมาได้สมบูรณ์แบบ
McIntosh MC-60, MC-75 เพาเวอร์แอมป์โมโน KT88 Push-Pull หลอดไดร์ว 12AZ7 12BH7 12AU7 หลอดปรี 12AX7 ภาคจ่ายไฟของ MC-60 เป็นหลอด 5U4G 2 หลอด ส่วนของ MC-75 จะเป็นโซลิดสเตจ กำลังขับใกล้เคียงกับ MC-275 แต่ราคาเครื่องกลับถูกกว่ามาก เนื้อเสียงเมื่อจัดหลอดในระดับเดียวกันลงแล้วสู้กับรุ่นยอดนิยมได้สบายๆครับ
McIntosh MC-30 เพาเวอร์แอมป์โมโน 6L6 Push-Pull หลอดไดร์ว 12AZ7 12BH7 12AU7 หลอดปรี 12AX7 ภาคจ่ายไฟเป็นหลอด 5U4G สามารถใช้งานร่วมกับปรีแอมป์โมโน McIntosh C4, C8 ได้เลย
McIntosh MC-240 เพาเวอร์แอมป์สเตอริโอ 6L6 Push-Pull หลอดไดร์ว 12AZ7 12BH7 12AU7 หลอดปรี 12AX7 รูปร่างหน้าตาคล้ายกับ MC-275 ตะแกรงครอบหลอดจะมีสองแบบคือรูสี่เหลี่ยมใหญ่ และรูกลมเล็ก
Fisher 80AZ เพาเวอร์แอมป์โมโน EL37 Push-Pull หลอดไดร์ว 12AU7 หลอดปรี 12AT7 และเรคติฟาย 5V4 ตัวเครื่องเป็นทรงยาวนักเล่นเลยนิยมเรียกรุ่นนี้ว่า “ฟิชเชอร์รถไฟ”
Pilot SA-260 เพาเวอร์แอมป์สเตอริโอ EL34 Push-Pull หลอดไดร์ว 12AX7 2 หลอด หลอดปรี 12AU7 ภาคจ่ายไฟ 5U4GB 2 หลอด สามารถต่อใช้งานกับปรีแอมป์ Pilot SP-210 ได้เลย
Leak TL/12.1 เพาเวอร์แอมป์โมโน KT66 Push-Pull หลอดไดร์ว 6SN7 เดิมๆเลยจะใช้ Mullard ECC33 หลอดปรี EF36 ภาคจ่ายไฟ GZ32 ขั้วต่อลำโพงกับขั้วไฟเอซีของเดิมจะเป็นของ Bulgin จะต้องมีปลั๊กของ Bulgin เพื่อต่อใช้งาน หรือไม่งั้นต้องผ่านการดัดแปลงขั้วต่อเดิม ส่วนอินพุตจะเป็นซ็อกเก็ต 8 ขาสำหรับต่อใช้งานกับปรีแอมป์ ต้องทำตัวแปลง RCA-to-Octal
ยังมีเพาเวอร์แอมป์วินเทจอีกหลายตัวที่เสียงดี แต่หายจากสนามประมูลไปนานมากอย่างเช่น Fisher 50AZ 55AZ, Stromberg Carlson AP-50 AP-55, McIntosh 50W2 เป็นต้น ถ้างบประมาณไม่ใช่ปัญหาเพาเวอร์แอมป์วินเทจสายลึกอย่าง Western Electric เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าตามเก็บครับ เนื่องจากทั้งเสียง และราคาไปไกลกว่าเพาเวอร์แอมป์ในลิสต์ที่กล่าวไปแล้วข้างต้นครับ