บนเส้นทางของ Vintage Hifi (21 ส.ค 2559)

ความทรงจำชัดเจนเหมือนเกิดขึ้นไม่นานสักเท่าไหร่ เมื่อนายแบงค์หนุ่มใหญ่ที่หอบหิ้วเครื่องเล่นเทป กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบอัตโนมัติมาให้ผมช่วยดูแล ในขณะนั้นคุณเบิ้น (ชื่อเล่นของนายแบงค์หนุ่มใหญ่ครับ) ยังไม่ได้สัมผัสถึงนิยามของเสียงในแบบ “Vintage Hifi” เลยถือโอกาสเชิญเข้ามาฟังลำโพงลูกผสม Karlson K-15 กับฮอร์น Altec 511B กับเครื่องเล่นแผ่นเสียง ในตอนนั้นเผอิญว่ามีแผ่นอัลบั้ม “จูบ”ของคุณพิทยา บุณยรัตพันธุ์ เสียงแรกจากแทร็คแรกหน้าแรกเหมือนมนต์สะกดให้คุณเบิ้นเริ่มก้าวแรกสู่การเล่นในแบบ Vintage Hifi และผมก็เห็นพัฒนาการการเล่นมาโดยตลอด ที่น่าสนใจคือ การเล่นแบบมีเสียงที่ต้องการอยู่ในใจแล้วทำให้สามารถเดินทางไปสู่จุดหมายได้รวดเร็วมาก

ช่วงแรกของการเล่นผ่านลำโพงวินเทจหลากหลาย เช่น Altec A7,  Electro-Voice, JBL C49 Dale, Philips AD9710 เป็นต้น ในชุดแรกๆที่คุณเบิ้นทดลองจับแมตช์แต่ละชุดนักเล่นวินเทจหลายต่อหลายท่าน ทั้งมือเก่ามือใหม่ต่างแวะเวียนมาเยี่ยมมาฟัง จนถึงจุดที่ทราบถึงแนวเสียงความแตกต่างของเครื่องวินเทจแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ ก็ขยับมาจบที่ Tannoy Westminster Royal ตัวผลิตใหม่ ปรีแอมป์/เพาเวอร์แอมป์เล่นผ่านตัวเบญจภาคีหลากหลายแต่มีตัวที่เก็บไว้เป็นของรักของหวงเช่น Mcintosh C22, Marantz Model 7 Reissue , JBL SG-520 + SE-400, Fisher 400-CX2, Marantz Model 8, 300B SE ฝีมือพี่ชาย เป็นต้น แนวทางการเล่นมีความน่าสนใจคือเรื่อง Matching ที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นตัวสุดยอดของวินเทจทั้งหมด แต่เป็นการผสมผสานที่เหมาะสม เช่นชุดที่ใช้เล่นกับลำโพง Tannoy Westminster จะใช้ปรีแอมป์ Mcintosh C22

เพาเวอร์แอมป์ Marantz Model 8 ใช้เทิร์น Garrard 301 อาร์มน้ำมัน  Neat  + หัวเข็มโมโน Denon DL-102 เล่นผ่าน SUT เพื่อเติมความเข้มหนาของเสียง เป็นซีสเต็มที่เล่นเพลงเก่าลูกทุ่งลูกกรุง แจ๊สเก่าที่เป็นเพลงร้องให้เสียงออกมาได้ยอดเยี่ยมมาก เข้มข้นมีบรรยากาศเสียง ยิ่งเป็นแผ่นโมโนนี่มาได้เต็มๆครับ ทั้งที่ระยะฟังใกล้ลำโพงมาก เรียกว่าฟังการแบบ “Near Field” แต่ได้ยินเสียงเพลงแล้วไม่ได้รู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด คุณเบิ้ลเล่าให้ฟังว่าชุดนี้ถือได้ว่าจบแล้วสำหรับเสียงเพลงในแบบวินเทจโมโน ได้เสียงที่ใช่ และถูกใจมากครับ

อีกซีสเต็มหนึ่งกำลังอยู่ในช่วงการปรับปรุง เผื่อเฟ้นหาเสียงที่ต้องการสำหรับการฟังเพลงในแบบสเตอริโอ เริ่มต้นจากลำโพงฟูลเรนจ์ Lowther PM2A ที่จัดได้ว่าเป็นลำโพงฟูลเรนจ์ที่มีความไวมาก ได้มาจากบ้านพี่ชายเช่นกัน แต่ข้อเสียของไดร์เวอร์ Lowther คือขอบเป็นโฟมมักจะเปื่อยยุ่ยเมื่อผ่านเวลาไปสัก 4-5 ปี โดยปกติจะใช้วีธีรื้อเปลี่ยนทั้งชุดกรวยขอบ สไปเดอร์ และวอยซ์คอยล์ ซึ่งค่าใช้จ่ายพอๆกับซื้อไดร์เวอร์ตัวใหม่ทั้งตัวกันเลย ในบ้านเรายังมีช่างซ่อมลำโพงฝีมือดีๆเก่งๆหลายคน ใช้วิธีเปลี่ยนเฉพาะขอบโฟมก็พอครับ ตอนเปลี่ยนขอบโฟมมาทีแรกการหยุ่นตัวยังไม่ดีนัก

กรวยลำโพง Lowther เองจะมีน้ำหนักเบามาก ทำให้การเคลื่อนที่เมื่อเจอแรงต้านของขอบโฟมที่เปลี่ยนมาใหม่ๆยังไม่ได้ ทำให้เสียงแรกไม่เป็นที่ประทับใจสักเท่าไหร่ แต่พอเบิร์นผ่านเวลาไป 100 ชั่วโมงการหยุ่นตัวของขอบโฟมดีขึ้นมาก ทีนี้ฟูลเรนจ์ Lowther ก็เริ่มเปล่งประสิทธิภาพขึ้นมาทันที การเริ่มต้นหา Matching ให้กับชุดสเตอริโอชุดนี้ก็ได้เริ่มต้นขึ้น ผ่านอินทีเกรตแอมป์ปรีแอมป์ที่มีอยู่หลายๆตัวทำให้มีโอกาสทดลองหาชุดที่เหมาะสมได้ไม่ยากนัก ใช้เทิร์นเทเบิล EMT 930st เป็นแหล่งกำเนิดสัญญาณผ่านปรีแอมป์ Marantz Model 7 Reissue และเพาเวอร์แอมป์ 2A3 SE งาน DIY แดนปลาดิบ ปรับปรุงหลอดเรคติฟายเป็น Western Electric  422A เสียงทั้งซีสเต็มก็ไพเราะขึ้นมาพลัน แม้ยังไม่ได้เสียงที่ต้องการแต่ก็ใกล้เคียงมากครับ ที่ต้องหาต่อคงจะเป็นหลอด 2A3 รุ่นเก่าที่เป็นโครงสร้างแบบ Top Spring น่าจะเป็นโจทย์ที่น่าค้นหาต่อไป

กับแนวทางการเล่นบนเส้นทาง Vintage Hifi ของคุณเบิ้นเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับผู้เริ่มต้น คือให้เริ่มต้นจากการฟังก่อน ยิ่งได้ฟังเยอะก็จะจับแนวทางการเล่นที่เหมาะกับตัวเรามากที่สุด ถ้าเจอเสียงที่ต้องการเร็วเท่าไหร่ความสุขของการฟังเพลงยิ่งเกิดขึ้นเร็วเท่านั้น เครื่องเล่นวินเทจแต่ละชิ้นมีเสน่ห์ของมันเอง ชุดที่ดีที่สุดไม่แน่ว่าจะเสียงดีที่สุด แต่ชุดที่แมตช์กลับจะให้เสียงที่ออกมาดีที่สุด บางทีชุดที่แมตช์ที่สุดก็ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวสุดยอดก็ได้ครับ