PSU สำหรับปรีแอมป์วินเทจ

ปรีแอมป์ของเครื่องเสียงวินเทจในยุคแรกๆมักใช้งานร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ที่เข้าชุดกัน ตัวปรีแอมป์เองจะไม่มีภาคจ่ายไฟใดๆเลย  จะอาศัยภาคจ่ายไฟจากเพาเวอร์แอมป์ทั้งไฟจุดไส้หลอด และไฟสูงสำหรับเลี้ยงวงจร อย่างเช่น McIntosh C4  C8/C8s , Dynaco PAM-1, Heathkit WA-P2, Leak Varislope, QUAD 22, Marantz Model 1 เป็นต้น ถ้าใช้งานแบบเข้าชุดกันอย่างเช่น McIntosh C8 กับ MC-30, Dynaco PAM-1 กับ ST-70, Heatkit WA-P2 กับ W5m, QUAD 22 กับ QUAD II เป็นต้น ก็ใช้งานได้เลยไม่ต้องทำอะไรเพราะปกติจะมีจุดต่อภาคจ่ายไฟจากเพาเวอร์แอมป์มาเข้ากับปรีแอมป์ แต่ถ้าเอาเฉพาะปรีแอมป์แยกมาใช้งานต่างหากร่วมกับเพาเวอร์แอมป์อื่นจะต้องทำอย่างไร?

 

ปรีแอมป์วินเทจบางตัวจะมี  Power Supply Unit หรือ PSU ขายแยกต่างหาก เพื่อให้สามารถนำเอาปรีแอมป์ที่ไม่มีภาคจ่ายไฟในตัว สามารถนำไปใช้งานร่วมกับเพาเวอร์แอมป์อื่นๆได้ เช่น Mcintosh  D3/D3A D101 สำหรับ C8/C8s, Marantz Type 4 สำหรับ Marantz Model 1, Dynaco PS-1 สำหรับ PAM-1 เป็นต้น ซึ่งภาคจ่ายไฟแยกเฉพาะ และตรงรุ่นกับการใช้งานจริงกลับหาไม่ง่ายนัก อย่าง D3/D3A นี่นานๆจะเจอสักตัว แถมถ้าจะใช้เป็นสเตอริโอต้องหาถึงสองตัวเลยครับ การสร้าง PSU ขึ้นมาใหม่น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจครับ ถ้าลองหาวงจรภาคจ่ายไฟเหล่านี้มาดูจะพบว่ามีเพียงหม้อแปลง หลอดเร็คติฟาย ตัวเก็บประจุไม่กี่ตัวเท่านั้นเอง เรียกว่าทำเองได้ครับไม่ยุ่งยากอะไร ถ้าท่านพอจะอ่านค่าอุปกรณ์ บัดกรีเองได้ ทำกล่องในเองได้ ก็ลุยได้เลยครับ มีหลักการพิจารณาเลือกอุปกรณ์สำหรับพิจารณาไม่กี่อย่างเองครับ

ปรีแอมป์วินเทจแต่ละตัวต้องการไฟเลี้ยงวงจรสองชุดก็คือไฟจุดไส้หลอด จะมีทั้งเป็นไฟกระแสตรง DC และไฟกระแสสลับ AC ขึ้นอยู่กับตัวปรีแอมป์ตัวที่เราจะใช้งานเป็นหลัก และไฟสูงสำหรับเลี้ยงวงจรว่าต้องการไฟสูงกี่โวลต์ เช่น McIntosh C8/C8s ต้องการไฟสูงประมาณ +400 โวลต์ เป็นต้น  ถ้าเราสร้างแรงดันตามที่ปรีแอมป์ต้องการ และมีขั้วต่อที่ตรงกับปรีแอมป์เท่านี้ก็สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้แล้วครับ    (ในเนื้อหาถัดจะกล่าวถึงปรีแอมป์ McIntosh C8/C8S มากหน่อย เพราะเป็นปรีแอมป์แบบไม่มีภาคจ่ายไฟที่นิยมใช้งานกันมากที่สุด)

แต่ที่น่าสนใจก็คือหม้อแปลง กับอุปกรณ์ที่นำมาสร้าง PSU กลับมีนัยต่อคุณภาพเสียงทื่ได้ค่อนข้างมาก เอาง่ายๆครับ McIntosh D3 กับ D3A เป็น PSU สำหรับปรีแอมป์ McIntosh C8/C8s ทั้งคู่ แต่วงจรเร็คติฟาย D3 เป็นหลอด 5Y3 ส่วน D3A เป็นไดโอดธรรมดา ก็ให้เสียงแตกต่างกันแล้วครับ พอสร้างภาคจ่ายไฟสำหรับ McIntosh C8/C8s หลายๆแบบก็ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจหลายประการด้วยกัน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ในการสร้าง PSU สำหรับปรีแอมป์วินเทจได้ทุกตัวครับ

หัวใจหลักของ PSU คือ หม้อแปลงไฟ ถ้าได้หม้อแปลงไฟวินเทจจะดีกว่าสั่งพันหม้อแปลงขึ้นมาใหม่ ปรีแอมป์ปกติจะกินกระแสไม่กี่มิลลิแอมป์เท่านั้น ทำให้สามารถเลือกใช้หม้อแปลงวินเทจได้หลากหลาย เช่น Triad, Thordarson, Siemens, UTC, Peerless เป็นต้น ให้ดูว่า มีขดสำหรับแรงดันจุดไส้หลอดหรือไม่?, ขดไฟสูงเพียงพอที่จะสร้างแรงดันได้ตามค่าที่ต้องการกับปรีแอมป์ที่ต่อใช้งานหรือไม่?  อุปกรณ์พวกตัวเก็บประจุ ตัวต้านทาน หรือโช๊ค มีผลต่อเสียงมาเช่นกัน เช่น ตัวเก็บประจุชนิดน้ำมันตัวเขื่องๆใหญ่ๆจะให้มวลเสียงออกมาได้เข้มข้นกว่าตัวเก็บประจุสมัยใหม่ตัวเล็กๆ, โช๊ควินเทจให้เสียงที่มีบรรยากาศกว่าโช๊คพันใหม่ ตัวต้านทานเก่าๆให้เสียงน่าฟังกว่าตัวต้านทานสมัยใหม่ เป็นต้น ถ้าได้สายไฟหุ้มผ้าเก่าๆด้วยยิ่งดีเลยครับ

สำหรับท่านที่ถนัดในการดัดแปลงมากกว่าสร้างขึ้นมาใหม่ การเลือกใช้ PSU วินเทจก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมครับ เนื่องจากมี PSU วินเทจหลายๆแบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานกับปรีแอมป์ ยังพอหาได้ไม่ยากนัก แถม PSU บางตัวเมื่อเอามาดัดแปลงใช้งานกับปรีแอมป์แล้วพบว่า ให้คุณภาพเสียงออกมาน่าทึ่งมาก อย่างเช่น PSU ตัวเขื่องของ Simplex XL เดิมถูกใช้งานในการเป็นแหล่งจ่ายไฟให้กับปรีแอมป์โรงภาพยนตร์ Simplex XL ทีเดียว 7 ตัว หรือจ่ายกระแสได้เหลือเฟือสำหรับปรีแอมป์ McIntosh C8/C8s สองตัว ทำการดัดแปลงวงจรเล็กน้อย เพื่อให้สามารถจ่ายไฟสูงได้ค่าตามที่ McIntosh C8/C8s ต้องการ และทำขั้วต่อ Octal สำหรับใช้เสียบสาย Octal จาก PSU ไปยัง McIntosh C8/C8s เพียงเท่านี้  ปรีแอมป์วินเทจ McIntosh C8/C8s ก็จะกลายเป็นแมวที่คำรามได้ดังเหมือนสิงโตยังไงยังงั้น เพราะให้เสียงที่ออกมาอิ่มใหญ่ เนื้อเสียงเข้มข้น รายละเอียดชัดเจน ไดนามิคเสียงมาเต็มๆ เรียกได้ว่าเสียงดีขึ้นแบบทิ้งเสียงดั้งเดิมแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว

หลักการพิจารณาเลือกใช้ PSU วินเทจก็คล้ายๆกับการเลือกหม้อแปลงวินเทจ นั่นก็คือ แรงดันไฟสูงขาออกมาเพียงพอกับสเปคของปรีแอมป์ที่เราใช้งานหรือไม่ มีขดไฟจุดไส้หลอดหรือไม่ปรีแอมป์ McIntosh C8/C8s, Dynaco PAM-1, Heathkit WA-P2 ต้องการไฟจุดไส้หลอด 6.3V AC ก็ง่ายหน่อย เนื่องจาก PSU วินเทจส่วนมากจะมีขด 6.3V AC อยู่แล้วแทบทุกตัว แต่ปรีแอมป์บางตัวอาจต้องการใช้ไฟจุดไส้หลอดเป็นไฟกระแสตรง 6.3V DC, 12.6V DC หรือ 50V DC เป็นต้น ต้องพิจารณาต่อไปว่า ขดไฟจุดไส้หลอดที่ให้มาสามารถนำไปสร้างไฟจุดไส้หลอดได้ตามที่ปรีแอมป์ต้องการหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ปรีแอมป์ Stromberg Carlson ASE-6  ต้องการไฟจุดไส้หลอด 50V DC เพราะใช้การอนุกรมไส้หลอด 12AX7 3 หลอด 12AU7 1 หลอด ถ้าจะเลือก PSU วินเทจมาใช้งานก็ต้องหาแบบที่มีขด 6.3VAC หลายๆขดหน่อยเพื่อเอามาอนุกรมกัน แล้วผ่านวงจรเพิ่มแรงดันให้ได้แรงดันที่ต้องการ

สำหรับท่านที่ใช้ปรีแอมป์วินเทจแบบไร้ภาคจ่ายไฟในตัว ลองมองหา PSU วินเทจสำเร็จรูปตัวเขื่องๆมาลองดัดแปลงใช้งานดู แหล่งค้นหาของที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นอีเบย์ครับ ลองค้นหาโดยใช้คำค้นหา “tube power supply” ดูครับ เท่าที่ผมได้มีโอกาสทดลอง PSU วินเทจหลายๆแบบกับปรีแอมป์ McIntosh C8/C8s พบว่าให้คุณภาพเสียงน่าพึงพอใจมาก โดยเฉพาะ Simplex XL ที่เรียกได้ว่า “อะแมซซิง”  มาก เนื้อเสียงที่ได้สามารถกระทบไหล่ปรีแอมป์วินเทจรุ่นใหญ่ๆได้เลย หรือบางทีเสียงดีกว่าก็เป็นได้ครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของตัวปรีแอมป์ด้วยครับ