วัฒนาการของวินเทจมอนิเตอร์ ตอนที่ 4

ในปี 1977 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งขึ้นกับ JBL เมื่อ Harman International ขายหุ้นทั้งหมดให้กับ Beatrice Foods Co.  ในช่วงที่ Dr. Harman ประสบความสำเร็จในการบริหารอย่างสูงสุด ชื่อเสียงของเขาขจรไปถึงหูผู้ลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้น นั่นคือ Jimmy Carter โดย Carter ได้เข้าทาบทาม Dr. Harman เข้าร่วมโดยเสนอตำแหน่งเลขาธิการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง Dr. Harman ก็ตอบรับ ในการรับตำแหน่งมีข้อบังคับเรื่องการถือหุ้นอยู่ ทำให้เขาต้องขายหุ้นทั้งหมดให้กับ Beatrice ซึ่งเคยเสนอขอซื้อ Harman International ซึ่งเขาก็ได้ปฏิเสธไปแล้วครั้งหนึ่ง พอมาในปี 1977, Dr. Harman ก็ได้ติดต่อกับทาง Beatrice เพื่อขายหุ้น Harman International ซึ่งรวมถึง JBL ด้วย

ในยุคของ JBL ภายใต้ปีกของ Beatrice ไม่มีการพัฒนาลำโพงมอนิเตอร์รุ่นใดๆเป็นพิเศษเลย แถมยังเกิดวิกฤตการณ์แม่เหล็กอัลนิโกขาดตลาดอันเนื่องมาจาก สงครามประชาชนที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยคองโก หรือที่รู้จักกันในนามสาธารณรัฐซาเอียร์ในภาคกลางของแอฟริกา แม่เหล็กอัลนิโกใช้โคบอลต์เป็นส่วนผสมหลักในการผลิต ช่วงนั้นซาเอียร์เป็นผู้ผลิตโคบอลต์ขายทั่วโลกมากกว่า 60% กองกำลังกบฏบุกรุกจากประเทศแองโกลา และในเดือนพฤษภาคม, ปี 1978 เหมืองแร่โคบอลต์ในแถบ Kolwezi ถูกยึด และทำให้เหมืองน้ำท่วม จนการผลิตโคบอลต์ของซาเอียร์หยุดสนิท ทำให้คงเหลือแต่ผู้ผลิตโคบอลต์ที่อยู่หลังม่านเหล็ก (รัสเซีย) หรือในอุตสาหกรรมทางการทหาร นั่นคือโคบอลต์ได้หายไปจากตลาดคอมเมอร์เชียลจนหมดสิ้น

ทางออกของปัญหานี้คือต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนไปใช้แม่เหล็กอื่นแทนอัลนิโก นั่นก็คือแม่เหล็กเฟอร์ไรต์ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีมอเตอร์ใหม่ จากเดิมทีแม่เหล็กอัลนิโกมีอัตราส่วนเส้น แรงแม่เหล็กสูงเทียบกับน้ำหนัก ทำให้แม่เหล็กมีขนาดเล็กเพียงพอที่จะติดตั้งไว้ด้านในขดลวดได้ พอเปลี่ยนมาใช้แม่เหล็กเฟอร์ไรต์ที่มีอัตราส่วนเส้นแรงแม่เหล็กต่อน้ำหนักต่ำกว่ามาก ทำให้ต้องใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่ขึ้นมากเพื่อให้ได้ฟลักซ์แม่เหล็กเท่ากับแม่เหล็กอัลนิโก ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมอเตอร์ที่ต้องติดตั้งแม่เหล็กไว้ด้านนอก ของขดลวด

ต้นแบบของไดร์เวอร์เบสส์ที่เปลี่ยนไปใช้แม่เหล็กเฟอร์ไรต์ที่พัฒนาขึ้นมา โดยฝ่ายวิศวกรรม JBL เพื่อให้สามารถทดแทนไดร์เวอร์แบบแม่เหล็กอัลนิโก ต้นแบบไดร์เวอร์เหล่านี้สร้างขึ้นเป็นระบบลำโพงขึ้นมาง่ายๆ และทดสอบด้วยการฟังแบบนามธรรม ผลปรากฏว่าการทดสอบฟังสามารถจับความแตกต่างได้อย่างชัดเจนว่า ไดร์เวอร์ใหม่ที่เป็นแม่เหล็กเฟอร์ไรต์ให้เสียงที่แตกต่างจากเสียงของ ไดร์เวอร์เดิม คือให้เสียงแย่กว่ามาก ทีมวิศวกรของ JBL ภายใต้การนำของ Terry Sorensen, และรวมถึง Mark Gander  ทำหน้าที่พัฒนาไดร์เวอร์ขึ้นมาใหม่โดยหาวิธีทางเทคนิค เพื่อให้บรรลุประสิทธิภาพที่ต้องการ

ทีมวิจัยพบว่ามีองค์ประกอบสองประการที่ทำให้เกิดความเพี้ยนของเสียงใน ไดร์เวอร์ใหม่นี้ ทั้งสองประการมีความสัมพันธ์กับโครงสร้างที่จัดวางให้แม่เหล็กอยู่ด้านนอก และผ่านเส้นแรงแม่เหล็กผ่านขั้วแม่เหล็กที่เป็นเหล็ก (iron pole piece) ปัญหาประการแรกคือทำให้เกิดสนามแม่เหล็กที่ไม่สมมาตรเกิดขึ้นระหว่างช่อง วอยซ์คอยล์ เนื่องจากทรานสดิวเซอร์ใช้วอยซ์คอยล์ที่ยาวกว่าความลึกของแก็ป (ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักดั้งเดิมของไดร์เวอร์เบสส์ของ JBL ) ทำให้ฟลักซ์แม่เหล็กอ่อนแรงตรงบริเวณด้านบนสุดและล่างสุดของแก็ป การส่งผ่านเส้นแรงแม่เหล็กผ่าน pole piece ทำให้เส้นแรงแม่เหล็กด้านล่างของแก็ปแรงกว่าด้านบน ผลลัพธ์คือทำให้เกิดความเพี้ยนเชิงฮาร์โมนิคออร์เดอร์ที่สอง ในตอนที่กรวย ลำโพงกระพือมากๆ  ซึ่งแก้ไขโดยลดขนาดของ pole piece ลงจนเพียงพอที่จะทำให้ความแตกต่างของเส้นแรงแม่เหล็กในแก็ปต่ำลงมาก JBL เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Symmetrical Field Geometry (SFG), เป็นนวัตกรรมต่อมาที่ใช้กับไดร์เวอร์ของ JBL ที่ใช้แม่เหล็กเฟอร์ไรต์

ปัญหาประการที่สองที่ Sorensen และ Gander ค้นพบคือความสามารถในการแผ่ของเส้นแรงแม่เหล็กผ่านขั้วแม่เหล็กที่เป็นเหล็ก มันทำให้เกิดการรับสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นจากคอยล์กลับเข้ามาในโครงสร้าง แม่เหล็ก ทำให้เกิดผลลัพธ์ด้านความเพี้ยนเชิงฮาร์โมนิคออเดอร์ที่สอง วิธีการแก้ไขทำโดยสร้างวงแหวนอลูมิเนียมคั่นระหว่างฐานกับ pole piece ซึ่งทำให้แม่เหล็กเหนี่ยวนำไม่สามารถแผ่กลับเข้ามาในโครงสร้างแม่เหล็ก หลังจากการแก้ปัญหาทั้งสองประการนี้ได้ทำให้ไดร์เวอร์มีความเพี้ยนต่ำ กว่าไดร์เวอร์ที่ใช้แม่เหล็กอัลนิโกตลอดย่านความถี่

หลังจากแก้ไขปัญหาทางเทคนิคได้จนหมด JBL ก็ได้เปิดตัวไลน์สินค้าไดร์เวอร์เบสส์ที่ใช้แม่เหล็กเฟอร์ไรต์ในปี 1979 การเปลี่ยนแปลงนี้มุ่งเน้นไปที่ไดร์เวอร์เบสส์ เนื่องจากใช้ใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่สุด หลังจากที่ปรับเปลี่ยนไดร์เวอร์ได้สมบูรณ์ ฝรั่งเศส, เบลเยียม และอเมริกาก็เข้าไปจัดการปัญหาสงครามประชาชน และทำให้เหมืองแร่โคบอลต์กลับมาผลิตใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งมีกำลังการผลิตต่ำกว่าเดิมมาก แม้แม่เหล็กอัลนิโกกลับมาอีกครั้งแต่ก็มีราคาสูงมาก JBL ยังคงผลิตคอมเพรสชันไดร์เวอร์ที่ใช้แม่เหล็กอัลนิโกต่อไปจนถึงปี 1982 จึงได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนมาใช้แม่เหล็กเฟอร์ไรต์เพื่อลดต้นทุก ไดร์เวอร์คอมเพรสชันเวอร์ชันที่ใช้แม่เหล็กเฟอร์ไรต์ก็เปิดตัวในปีเดียวกัน ไดร์เวอร์รุ่น  2441 ที่เป็นแม่เหล็กอัลนิโกยังคงผลิตต่อไปจนถึง 1991 ซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก

ในช่วงที่ JBL กำลังสาละวนอยู่กับการพัฒนาไดร์เวอร์เฟอร์ไรต์ Altec 604 ก็แอบกลับเข้าสู่ตลาดสตูดิโอมอนิเตอร์อีกครั้งอย่างเงียบๆ ในปี 1974 ภายใต้การผลิตไดร์เวอร์ Audiomarketing Ltd. 604E2 ซึ่งเป็นไดร์เวอร์ 16 โอห์มที่เป็นเวอร์ชัน OEM ของ 604-8G  ให้กับ Audiomarketing Ltd. ได้ผลิตระบบลำโพงที่ใช้ไดร์เวอร์ 604 เป็นฐานการออกแบบเรียบว่ารุ่น “Big Reds” ลำโพงรุ่น Big Reds ของ Audiomarketing เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างไดร์เวอร์ และครอสส์โอเวอร์ที่พัฒนาขึ้นภายในที่ The Mastering Lab ซึ่งอยู่ในฮอลลีวูด โดย The Mastering Lab ทำหน้าที่หลักในการพัฒนา (ปัจจุบันก็ยังทำอยู่) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และระบบลำโพงมอนิเตอร์ โดนอาศัยระบบพื้นฐานมาจากไดร์เวอร์ 604E และครอสส์โอเวอร์ของ Mastering Labs โดยลิขสิทธิ์การออกแบบตกเป็นของ

Audiomarketing Ltd., ในสแตมฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทางออดิโอรายเล็กๆที่มีความสัมพันธ์กับ Audio Techniques ซึ่งเป็นดีลเลอร์ระบบโปร-ออดิโอรายใหญ่ในนิวยอร์ค  ครอสส์โอเวอร์ของ Mastering Labs Crossover เป็นเน็ตเวิร์ค 16 โอห์ม เดิมออกแบบมาสำหรับไดร์เวอร์ 15″ 604E ต่อมา Altec ได้ผลิตลำโพง Duplex รุ่นใหม่ออกมาในขนาด 16″ โครงอลูมิเนียมหล่อซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับการใช้งานแบบฟรอนต์โหลด (ติดตั้งไดร์เวอร์จากด้านหน้าตู้) แต่สต๊อกไดร์เวอร์ที่มีอยู่กลับเป็นรุ่น 604-8G ซึ่งมีอิมพีแดนซ์ 8 โอห์ม ดังนั้นแม้ลำโพง Big Reds จะระบุว่าใช้ไดร์เวอร์รุ่น 604-E แต่จริงๆแล้วเป็นรุ่น 604 ที่ต่างไปจาก 604E พบว่าเป็นตู้แบบติดตั้งไดร์เวอร์ 16″ ฟรอนต์โหลด, แม่เหล็กเป็นอัลนิโก และมีฮอร์นแบบหกช่องซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นรุ่น 604 รหัสพ่วงท้าย “G”

ในช่วงปี 1978 แต่เป็นบริษัทน้องใหม่ที่ใช้ไดร์เวอร์ Altec 604 ในการพัฒนาสตูดิโอมอนิเตอร์ นั่นก็คือ UREi  เป็นระบบลำโพงมอนิเตอร์สำหรับห้องคอนโทรลที่ถูกพัฒนาโดย Bill Putnam (UREi) โดยมีครอสส์โอเวอร์แบบปรับค่าเหลื่อมของเวลาซึ่งออกแบบโดย Ed Long (CSI) ได้เริ่มต้นสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในปี 1976 รุ่นแรกที่เปิดตัวเป็นทางการก็คือรุ่น 813 และออกสู่ตลาดได้จริงๆในปี 1978 โดยระบบลำโพงมอนิเตอร์รุ่น 813 นี้ได้เพิ่มวูฟเฟอร์ขนาด 15″ เป็นตัวช่วยด้านเสียงเบสส์ เป็นไดร์เวอร์ของ Eminence ที่สามารถรับกำลังได้ถึง 800W ฮอร์นแบบเซคเตอรอลของไดร์เวอร์ 604-8G ถูกแทนด้วยฮอร์นแบบเอ็กโปเนนเชียลสีฟ้า ยังมีรุ่นอื่นในซีรีย์นี้ด้วยเช่น รุ่น 811 จะมีไดร์เวอร์ 604 เพียงตัวเดียวในตู้ไม่มีวูฟเฟอร์เพิ่มเติม และรุ่น 815 ใช้ไดร์เวอร์ 604 หนึ่งตัวลงตู้ลำโพงขนาดใหญ่โดยมีวูฟเฟอร์เพิ่มอีกสองตัว

เน็ตเวอร์สามทางแบบมีการจัดการเหลื่อมของเวลา (TA network) รุ่น 838 สำหรับมอนิเตอร์ 813 ถูกออกแบบเพื่อใช้งานกับ 604-8G แต่ช่วงเวลาการพัฒนามอนิเตอร์ 813 กินระยะเวลายาวนานพอสมควร ทำให้ Ed Long ต้องออกแบบให้เน็ตเวิร์คแบบมีการจัดการเหลื่อมของเวลาเพื่อใช้งานได้กับทั้ง ไดร์เวอร์รุ่น 604-8G และ 604E โดยมอนิเตอร์ 813 ดังเดิมจะใช้ทั้ง 604-8G และ 604-8H แต่เปลี่ยนตัวฮอร์นให้เป็นแบบฉบับของ UREi เอง ในช่วงแรก UREi พัฒนามอนิเตอร์สามรุ่นดังนี้

811 – วูฟเฟอร์ตัวเดียวแบบแกนร่วม (604) ใช้เน็ตเวิร์คแบบ TA network สองทางรุ่น 828
813 – วูฟเฟอร์สองตัว ตัวหนึ่งเป็นแบบแกนร่วม ใช้เน็ตเวิร์คแบบ TA network สามทางรุ่น 838
815 – วูฟเฟอร์สามตัว ตัวหนึ่งเป็นแบบแกนร่วม ใช้เน็ตเวิร์คแบบ TA network สามทางรุ่น 848

โดยเน็ตเวิร์คแบบ TA network สองทางรุ่น 824 ถูกออกแบบมาให้ใช้กับ 604E เน็ตเวิร์คแบบ TA network สามทางรุ่น 838 ถูกออกแบบมาให้ใช้กับ 604E โดยเพิ่มไดร์เวอร์ความถี่ต่ำ UREi 800W UREi ยังแยกจำหน่ายเฉพาะฮอร์นสีฟ้ารุ่น 800F ที่สามารถใส่กับไดร์เวอร์ 604E และ 604-8G ได้เลย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ซี รีย์ “A” ของมอนิเตอร์ UREi เกิดขึ้นในช่วงที่ไดร์เวอร์ 604 มีการเปลี่ยนจากแม่เหล็กอัลนิโกไปใช้แม่เหล็กเฟอร์ไรต์เซรามิค เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของไดร์เวอร์ ก็ต้องปรับเน็ตเวิร์คแบบ Time-Align ใหม่ เพื่อปรับปรุงให้รอบรับการมาของไดร์เวอร์ใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ซีรีย์ “A” ในปี 1981 ไดร์เวอร์ยังคงเป็น 604 แต่เป็นรุ่น 8K ส่วนฮอร์นสีฟ้าถูกปรับปรุงให้เพิ่มขอบโฟมบริเวณปากฮอร์นเพื่อลดการเกิดเงา เสียง ขั้วต่อแบบ BNC ถูกเพิ่มด้านหลังของตู้เพื่อใช้ในการป้อนกลับร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ UREi ซีรีย์ เพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียในสาย ประกอบไปด้วยรุ่น

811A – วูฟเฟอร์ตัวเดียวแบบแกนร่วม (604) ใช้เน็ตเวิร์คแบบ TA network สองทางรุ่น 829
813A – วูฟเฟอร์สองตัว ตัวหนึ่งเป็นแบบแกนร่วม ใช้เน็ตเวิร์คแบบ TA network สามทางรุ่น 839
815A – วูฟเฟอร์สามตัว ตัวหนึ่งเป็นแบบแกนร่วม ใช้เน็ตเวิร์คแบบ TA network สามทางรุ่น 849

จาก นั้นก็มีซีรีย์ “B” ตามออกมาเพื่อแก้ปัญหาของการคุบคุมคุณภาพ และไดร์เวอร์ 604 ถูกตีกลับจาก UREi กลับไปยัง Altec เป็นจำนวนมาก และต้องการความสามารถในการรับกำลังขับได้สูงขึ้นมากกว่าความไว ทำให้ UREI หันไปหาลำโพงลูกผสมที่ใช้วูฟเฟอร์แบบแกนร่วมของ PAS และคอมเพรสชันไดร์เวอร์ของ JBL ได้มีการใส่แนวคิดใหม่ๆให้กับฮอร์น ทำให้ 813B กลายเป็นมอนิเตอร์ที่ดีที่สุดในซีรีย์ โดยเป็นระบบลำโพงที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม 3dB และรับกำลังขับได้มาขึ้นเป็นสองเท่า (150 W แทนที่จะเป็น 75 W ดังเช่นเวอร์ชันเก่า) ทำให้ภาพรวมของซีรีย์นี้ถูกปรับปรุงระดับเสียงเอาต์พุตขึ้นมาอีก 6dB ประกอบไปด้วยรุ่น

811B – วูฟเฟอร์ตัวเดียวแบบแกนร่วม (604) ใช้เน็ตเวิร์คแบบ TA network สองทางรุ่น 830
813B – วูฟเฟอร์สองตัว ตัวหนึ่งเป็นแบบแกนร่วม ใช้เน็ตเวิร์คแบบ TA network สามทางรุ่น 840
815B – วูฟเฟอร์สามตัว ตัวหนึ่งเป็นแบบแกนร่วม ใช้เน็ตเวิร์คแบบ TA network สามทางรุ่น 850

ปิดฉากด้วยซีรีย์ “C” เมื่อ JBL ได้ซื้อกิจการของ UREi ทำให้มอนิเตอร์ถูกเปลี่ยนไปใช้ไดร์เวอร์ของ JBL ทั้งหมด เสียงของซีรีย์นี้ไม่เหลือเค้าโครงเดิมๆของรุ่นก่อนๆอีกเลย

ภายหลังที่ Altec Lansing ถูกซื้อกิจการโดย Gulton/Electro-Voice ในปี 1983 หลังจากนั้น Gulton ก็ขายแผนกออดิโอที่ประกอบไปด้วย Altec Lansing,  University Sound, และ EV ให้กับกลุ่มนักลงทุน Mark IV ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนเป็นบริษัท Mark IV Audio เท่ากับเป็นการขีดฆ่าชื่อ Altec Lansing Corporation ทิ้ง หลังจากนั้นก็ขายทอดต่อให้กับ Telex Corporation ซึ่งต่อมาก็ขายเฉพาะแบรนด์เนม Altec Lansing Technologies ไปใช้กับ Sparkomatic ณ. จุดนี้เองทำให้ไดร์เวอร์ 604 ยุติการผลิต ไปอย่างสิ้นเชิง แต่ฟ้าหลังฝนก็ยังคงมีเสมอเมื่อ Bill Hanuschak เจ้าของ Great Plains Audio, Inc., ได้ซื้อเครื่องมือเครื่องจักรดั้งเดิมสำหรับการผลิตไดร์เวอร์เลื่องชื่อจาก Telex ซึ่งต่อมาก็ดำเนินการผลิตไดร์เวอร์ในตำนานออกสู่ตลาดในรุ่น 604-8H-II ออกมาให้กับแฟนานุแฟน 604 ได้สานต่อกันครับ