หัวเข็ม MC จะมีระดับสัญญาณเอาต์พุตต่ำกว่าหัวเข็ม MM มาก ถ้าปรีโฟโนที่มีสวิทช์เลือก MM/MC ก็สามารถใช้งานได้เลย แต่ถ้ามีแต่ปรีโฟโน MM อย่างเดียวจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ขยายสัญญาณหัวเข็ม MC เพื่อยกให้ระดับสัญญาณมีความแรงเท่ากับหัวเข็ม MM โดยปกติจะใช้ MC Headamp ที่เป็นวงจรขยาย กับ MC SUT (MC Step up Transformer) หรือหม้อแปลงขยายสัญญาณ ซึ่งอย่างหลังนี่แหละที่เราจะมาพูดถึงกันครับ
ระบบเสียงวินเทจจะเจอ SUT ที่ใช้กับหัวเข็ม MC ตรงๆกลับมีตัวเลือกไม่มากนัก แต่กลับมีหม้อแปลงประเภทหนึ่งที่ทำหน้าทีเหมือนกันก็คือ Microphone Input Transformer จะมีให้เลือกมากมายหลายรุ่น และยี่ห้อ มีทั้งผลการตอบสนองความถี่แคบเฉพาะเสียงพูด และบางตัวผลการตอบสนองความถี่กว้างเต็มแบนด์วิดธ์ความถี่เสียง หม้อแปลงไมค์อินพุตหลายๆตัวจึงถูกเอามาใช้งานเป็น MC SUT ที่สามารถให้คุณภาพเสียงออกมาน่าประทับใจมาก หม้อแปลงอินพุตที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ตัวผมเองได้มีโอกาสทดลองเล่นลองฟังทั้งหมดแล้ว สามารถเอามาใช้งานกับหัวเข็ม MC ได้เลย เพราะการตอบสนองความถี่ครบทุกย่าน
เริ่มต้นจากหม้อแปลงยอดนิยมที่ใช้งานในปรีมิกเซอร์ หรือมิกเซอร์ของ Altec นั่นก็คือ ลูกแดง Altec 15095A และลูกเขียว Peerless 4722 หม้อแปลงอินพุตสองตัวนี้มักเจอในปรีมิกเซอร์ Altec 1567A หนึ่งเครื่องจะมี Peerless 4722 จำนวน 4 ลูก สำหรับใช้เป็นไมค์อินพุต และ Altec 1567A 1 ลูกสำหรับเป็นตัวแปลงบาลานซ์เอาต์พุต ปัจจุบันไม่ต้องส่องหาตามปรีมิกเซอร์ Altec 1567A แล้วครับ เพราะฝรั่งถอดออกมาขายแยกกันหมด แต่ยังมีปรีมิกเซอร์ตัวอื่นก็ใช้เช่นกันครับ ผมเองเคยซื้อปรีมิกเซอร์ Dukane ในอีเบย์ที่มี Peerless 4722 4 ลูก ตอนส่งมาผมบอกให้คนขายดึงหม้อแปลงส่งมาอย่างเดียว ส่วนตัวเครื่อง ไอ-ให้-ยู ไม่ต้องส่งมาครับ
Altec 15095A ตัวถังเป็น Mu Metal ทรงกระบอก หุ้มด้วยสติ๊กเกอร์สีแดง ระบุไดอะแกรมภายใน ขาต่อใช้งานเป็นแบบ Octal 8 ขา อัตราการขยายเลือกได้สองค่าคือ 1:5 และ 1:10 จะมีสองยี่ห้อด้วยกันคือ Altec และ Peerless ถ้ามีให้เลือกหลายๆตัวก็เลือก Peerless ก่อนครับ แนวเสียงของ Altec 15095A จะสดใสชัดเจนหนักแน่นกว่า 4722
Peerless 4722 ตัวถังเป็น Mu Metal ทรงกระบอก หุ้มด้วยสติ๊กเกอร์สีเขียว ระบุไดอะแกรมภายใน ขาต่อใช้งานเป็นแบบ Octal 8 ขา อัตราการขยายเลือกได้สองค่า 1:18 และ 1:36 แนวเสียงจะนุ่มนวลสุภาพให้รายละเอียดเสียงดีมาก การต่อวงจรใช้งานจะง่ายกว่า Altec 15095A สามารถใส่สวิทช์เลือกอัตราการขยายได้ง่ายกว่า เพราะเป็นการเลือกแท็ปของขดลวดอินพุต
UTC A-12 ตัวถังเป็นอลูมีเนียมหล่อทรงสี่เหลี่ยมสีเทา ติดเลเบลเพลตบอกรุ่น และยี่ห้อ ไดอะแกรมภายในต้องดูจากคู่มือ อัตราขยาย 1:31.6, 1:18, 1:12, 1:9 จุดเด่นของหม้อแปลงอินพุตของ UTC หลายๆรุ่น จะให้ความเป็นระเบียบของเนื้อเสียงดีมาก โทนัลบาลานซ์ดีมาก และรายละเอียดของชิ้นดนตรีหลุดออกมาเป็นตัวๆชัดเจน
Newcomb TR-91 ตัวถังเป็นอลูมีเนียมหล่อทรงกระบอกสีเทา ติดเลเบลเพลตบอกรุ่นยี่ห้อ และไดอะแกรมการต่อใช้งาน ขาต่อใช้งานเป็นเหมือนกับ Octal แต่มี 9 ขา หรือแบบ MIP-9S หาซ็อกเก็ตยากมากครับ ใช้แคลมป์รัดยึดลงกล่องแล้วบัดกรีขาตรงๆจะง่ายกว่าครับ อัตราการขยาย 1:15.8 และ 1:31.6 ราคาจะย่อมๆลงมาหน่อย เนื้อเสียงใช้ได้ครับ ที่น่าสนใจคือการเอามาใช้คอมโบกับ SUT ตัวอื่นที่จะกล่าวถึงในลำดับถัดไป
Western Electric D-161310 เป็นหม้อแปลงอินพุตของ Western Electric ที่ราคายังพอเอื้อมได้ถึง เพราะตัวดังๆอย่าง 618A,618B, 618C นี่ตกคู่ละสองแสนกว่าบาท!! ตัวถังเป็น Mu Metal สีเทาอ่อน ติดเลเบล Western Electric บางตัวจะสกรีนไดอะเกรมติดข้างตัวไว้ด้วย อัตราการขยายต่ำ 1:4.5 ต่อได้กับหัวเข็ม MC เท่านั้น ได้มาทีแรกนึกว่าจะได้ที่ทับกระดาษซะแล้ว เพราะต่อกับหัวเข็ม MC ก็เบามาก เอาไปใช้งานในการต่อคั่นปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์ไม่ได้เลย เนื่องจากอินพุตอิมพีแดนซ์ต่ำมาก แต่พอทำการทดลองแบบแผลงๆนอกตำราคือต่อคอมโบหม้อแปลงอินพุตตัวอื่นอีกชุดพบกว่าให้เสียงออกมายอดเยี่ยมมากๆ โดยเฉพาะต่อเล่นกับ Newcomb TR-91 ให้เสียงที่หายใจรดต้นคอ Western Electric 618B เลยทีเดียว เมื่อต่อเล่นแบบคอมโบกับ Newcomb TR-91 จะให้เนื้อเสียงอิ่มหนา ปลายเสียงแหลมพลิ้วไม่มีสากเสี้ยนใดๆ เนื้อเสียงกลางละเอียดเนียนดีมาก
Harman Kardon XT-2 ตัวถังเป็นอลูมีเนียมหล่อทรงกระบอกสีเทา ติดสติ๊กเกอร์บอกรุ่นยี่ห้อ และไดอะแกรมการต่อใช้งาน ขาต่อใช้งานเป็นเหมือนกับ Octal แต่มี 9 ขา หรือแบบ MIP-9S หาซ็อกเก็ตยากเช่นกัน อัตราการขยาย1:14 และ 1:20 เนื้อเสียงดี กลางแหลมดี ราคาเบาๆ
Thordarson 12975 ตัวถังทรงกระบอกสีเทาติดสติ๊กเกอร์ยี่ห้อ และสกรีนไดอะแกรมไว้บนตัวถัง หาได้ไม่ง่ายนัก แต่มักเจอในแอมป์หลอดสำหรับฉายหนังของ Signal Corp AM-424A เป็นแอมป์หลอด 6L6 Push-Pull ที่สุ้มเสียงดีมาก สามารถเอามาดัดแปลงใช้งานในการฟังเพลงได้โดยการบายพาสหม้อแปลงอินพุต หมายความว่าถ้าจะเล่นแอมป์ AM-424A อยู่แล้ว สามารถถอดหม้อแปลงอินพุตเอามาใช้งานเป็น MC SUT ได้เลยครับ อัตราการขยาย 1:31.6 เนื้อเสียงนุ่มหนา ให้บรรยากาศเสียงดีมาก
Langevin 412B ตัวถัง Mu Metal ทรงกระบอกสีเทา สกรีนชื่อรุ่นไว้ด้านบน บางตัวจะมีสติ๊กเกอร์ยี่ห้อติดด้านข้าง Langevin เป็นอีกยี่ห้อที่สัมพันธ์กับ Western Electric อย่างแนบแน่น สเปคของ Langevin 412B จะคล้ายกับ Western Electric 618C มาก แนวเสียงของ Langevin 412B เองก็คล้ายกับ Western Electric มากด้วยเช่นกัน คือให้เนื้อเสียงอิ่มหนา กลางแหลมเนียนละเอียดดีมาก อัตราขยายเลือกได้หลายค่า 1:1.7, 1:3.5, 1:10 และ 1:20 ราคายังไม่สูงมาก แต่อาจจะหายากหน่อยครับ
Siemens T-41 ตัวถัง Mu Metal ทรงกลมป้อมๆคล้ายเห็ดแชมปิญอง อัตราการขยาย 1:12.6 มักเจอในปรีแอมป์ของ Siemens ใช้งานสำหรับขยายไมค์ เนื้อเสียงให้ไดนามิคเสียงดีเยี่ยมในแบบเยอรมัน เนื้อเสียงไม่เข้มข้นเท่าฝั่งอเมริกา
Parmeko Neptune 6000-31 ตัวถังทรงสี่เหลี่ยมซีลหม้อแปลงทั้งตัวแช่อยู่ในน้ำมัน อัตราการขยาย 1:40 เหมาะกับหัวเข็ม MC ที่ต้องการโหลดต่ำๆ เพราะอิมพีแดนซ์ขาเข้าเพียง 25 โอห์ม แนวเสียงนุ่มนวลสุภาพในแบบอังกฤษ
หม้อแปลงอินพุตวินเทจเหล่านี้เมื่อเอามาใช้งานเป็น MC SUT พบว่าให้เนื้อเสียง และบรรยากาศเสียงที่มีเสน่ห์กว่าหม้อแปลง MC SUT สมัยใหม่มาก จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม?หม้อแปลงอินพุตชั้นเทพอย่าง Western Electric 618 ราคาถึงได้พุ่งพรวดๆทะลุสองแสนมานานโข ต้องลองได้ฟังเสียงสักครั้งจึงจะเข้าใจว่าของเก่าๆของเขาดีแบบนี้นี่เอง ถ้างบประมาณไม่ใช่ปัญหาก็คว้า Western Electric 618 ไปเลย แต่ก็ไม่ง่ายนักเพราะ 618 แท้ๆต้องซื้อกับแหล่งที่ไว้ใจได้เท่านั้นนะครับ ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็ลองหาตัวที่ผมมีโอกาสได้ทดลองเล่นมาแล้วข้างต้นจะดีกว่านะครับ