ราชันย์หลอดเพาเวอร์ 6550 & KT88

เมื่อกำลังขับของแอมป์มีนัยในตลาดเครื่องเสียงไฮไฟ ทำให้ในยุคหนึ่งเครื่องเสียงต้องพะตัวเลขวัตต์สูงๆเพื่อให้ขายได้ง่าย แนวคิดนี้เริ่มขึ้นช่วงปี 1950 ผู้บริโภคมองหาเครื่องเสียงที่กำลังขับสูงขึ้น หรือเครื่องเสียงแยกชิ้นกันมากขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วความไวของลำโพงต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่า หรืออาจกล่าวได้ว่าลำโพงเบสส์รีเฟล็กซ์ทั่วๆไป ก็เล่นได้ลั่นทุ่งกับเพาเวอร์แอมป์เพียง 30 วัตต์ต่อข้างแล้ว แต่ไหนก็ไหนแล้วแนวคิดที่ว่าก็ทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งต่างๆมากมาย

ย้อนรอยราชันย์หลอดเพาเวอร์

เครื่องเสียงหลอดไฮไฟในยุคก่อน จะหากำลังขับเกิน 30 วัตต์ เรียกได้่ว่าต้องควักอัฐออกมาเป็นกระบุงคงจะไม่ผิด เพราะต้องใช้หลอด 6L6G อย่างน้อยสี่หลอด ทำงานที่แรงดันเพลท 300-400V ไม่ก็ต้องใ้ช้หลอดเครื่องส่งทำงานที่ไฟสูงๆอย่าง 807 ทำงานที่แรงดันมากกว่า 550V ใช้ตัวเก็บประจุชนิดน้ำมัน และหม้อแปลงขนาดใหญ่ราคาแพง จึงจะได้กำลังขับอย่างที่ต้องการ แน่นอนว่าราคาเครื่องก็ต้องแพงเป็นเงาตามตัว ในยุคนั้นนักเล่นยินดีควักกระเป๋าให้กับ จูนเนอร์, เทิร์นเทเบิล, ลำโพง และชั้นวางสวยๆ ทำให้เหลืองบมาลงที่เพาเวอร์แอมป์ไม่มากนัก

ความพยายามหาคำตอบในเรื่องกำลังขับสูงขึ้นมีเป็นระยะๆ อย่างบทความในหนังสือ Audio Engineering ช่วงปี 1948-1954 จะมีหลอดใหญ่ๆโผล่ออกมาให้เห็นบ่อยๆ หรือหนังสทอ Audio Anthology เล่ม 1-3 ก็มีโครงงานสร้างแอมป์หลอดถึง 21 โครงงานซึ่งใช้หลอด 211 1 โครงงาน, 807 2 โครงงาน, 845 1 โครงงาน, และ 6146 1 โครงงาน ซึ่งหลอด 6146 เป็นหลอดที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาในปี 1952 และกลายมาเป็นหลอดเบอร์เก่งที่จะนำมาสร้างแอมป์กำลังขับมากกว่า 15W วงจรที่ใช้หลอดเครื่องส่งถูกมองว่าเป็นโครงงานหรูเลิศอลังการ จึงมีเพียงนักเลงหลอดที่จริงจังกับการเล่นที่เรียกว่า “audio bug” เท่านั้นที่จะใ้ช้แอมป์หลอดเครื่องส่งใหญ่ๆ จึงไม่เห็นเครื่องเสียงหลอดไฮไฟที่วางขายตามท้องตลาดใช้หลอดใหญ่ๆ

ด้วยความต้องการกำลังขับที่สูงขึ้น นักเล่นบางคนหาทางออกโดยการเลือกใช้ลำโพงที่มีประสิทธิภาพขึ้น ลำโพงความไวสูง และฮอร์นจึงได้รับความนิยมมาก ลองนึกภาพดูว่าในยุคนั้นนักเล่นส่วนใหญ่จะเป็นชายวัยกลางคนฟังเพลงคลาสสิค เครื่องเสียงไฮไฟยังไม่ถูกใช้ฟังเพลงร็อคแอนด์โรลล์จนกระทั่งถึงปี 1960 ต้องการฟังเพลงที่ดังพอที่กลบเสียงรายการทีวีของแม่บ้านว่างั้น?

หลอด 6146 ของ RCA กลายเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงเพาเวอร์แอมป์กำลังขับสูงในยุคนั้น ด้วยแรงดันเพลทสูงถึง 750V ใช้สองหลอดก็พอที่จะสร้างแอมป์กำลังขับ 100 วัตต์ได้ หลอด 6146 ถูกพัฒนาเพื่อใช้งานเป็นเครื่องส่งวิทยุสมัครเล่น และใช้งานเป็นเครื่องขยาย PA สำหรับโรงภาพยนตร์ เนื่องจากว่าเมื่อเป็นเครื่องสำเร็จแล้วราคายังแพงมาก จึงไม่มีแอมป์ไฮไฟตามท้องตลาดใช้หลอดเบอร์นี้ เพาเวอร์แอมป์ที่ใช้หลอดเบอร์นี้ได้แก่ Altec 1530 และแอมป์กระจายเสียงของ RCA สองสามเวอร์ชันที่ผลิตในปี 1950 ยังถูกใช้สร้างแอมป์สำหรับกีีตาร์เบสส์ของ Ampeg รุ่น SVT ในปี 1964 อีกด้วย เป็นแอมป์กีตาร์เบสส์ที่เอาไปประกวดแอมป์หนักที่สุดในโลกได้เลย SVT ให้กำลังขับ 300 วัตต์ที่โหลด 4, 8 หรือ 16 โอห์ม ต้องใช้กับลำโพงบิ๊กเบิ้ม (ปกติแอมป์ SVT ตัวหนึ่งจะใ้ช้เล่นกับลำโพงสองตู้ แต่ละตู้มีลำโพง 10″ 8 ตัว!!)

ความต้องการแอมป์ที่มีกำลังขับมากกว่า 50W เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขว่าความเพี้ยนต่ำ และราคาถูกกว่าแอมป์ที่ใช้หลอด 6146 หลอด Mullard EL37 เกือบจะทำได้แล้ว แต่ราคาเครื่องก็ยังแพงเหมือนกับ 6146 อยู่ดี
ในที่สุดความต้องการนี้ก็ถูกเติมเต็มในเดือนกุมภาพันธ์ 1955 ไม่ได้มาจากยักษ์ใหญอย่าง RCA, GE หรือ Sylvania แต่กลับเป็นบริษัทผลิตหลอดขนาดกลางจาก Newark, New Jerey อย่าง Tung-sol หลอด 6550 ได้ถือกำเนิดมา โดยมีอิทธิพลมาจาก 6146 แต่เน้นไปที่การใช้งานทางด้านออดิโอโดยเฉพาะ และเป็นการเคาะระฆังยกแรกให้กับสงครามกำลังขับของแอมป์หลอด

หลอด 6550 ถูกออกแบบมาำเพื่อใช้งานสำหรับเครื่องเสียงบ้าน เน้นถึงการประหยัดงบประมาณในการผลิต ไม่มีเพลทแค็ปก็ลดขั้วต่อแค็ปบนหลอดไปหนึ่งอย่าง และยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ในยามเปลี่ยนหลอดอีกด้วย ฐานหลอดเป็นแบบ 8ขา (Octal) ขนาดใหญ่มีแถบวงแหวนโลหะรัดที่ฐานหลอดช่วยใช้เสถียรภาพทางไฟฟ้าดีขึ้น วิศวกรของ Tung-sol ได้ออกแบบทรงหลอดใหม่ โดยขอยืมทรงหลอด ST หรือทรงขวดโค๊ก แต่ปรับให้ทรงหลอดต่างจากหลอด ST ปกติ คาดว่าต้องการให้หลอดดูเปี่ยมด้วยกำลัง อัตรากำลังของเพลทในเตตโทรดโหมด 35W และไตรโอดโหมด 40W ลงข้อความในโฆษณาว่า “เพียงหลอด 6550 พุชพูล ก็ได้กำลังขับหลอดอื่นๆที่ใช้ถึงสี่หลอดหรือมากกว่าแล้ว” ฐานหลอดยังใช้วัสดุขึ้นรูปในแม่พิมพ์พิเศษ ทำให้ไม่มีการอาร์คที่ขาหลอดได้ง่าย ทำให้หลอด 6550 สามารถทำงานได้ที่แรงดันเพลทสูงถึง 600V และแรงดันสกรีนกริด 400V มีค่าทรานส์คอนดัคแตนซ์เป็นสองเท่าของหลอด 6L6 และกริดของ 6550 ผ่านการชุบแข็ง และชุบทอง ทำให้กริดทนทานขึ้น เป็นหลอดที่สเปคเหมือนหลอดเครื่องส่ง แต่ราคาเท่าหลอดเครื่องรับ

เหมือนกับปู่ของ 6550 นั่นคือ 6L6 ทันทีที่หลอดออกสู่ต้องตลาด ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แอมป์หลอดไฮไฟหลายต่อหลายยี่ห้อก็เริ่มทำแอมป์ที่ใช้หลอด 6550 ออกสู่ท้องตลาด โดยเริ่มจาก Altec 340A กำลังขับ 40W ในปี 1955 ตามมาด้วย McIntosh MC60, Heath WM-6, Fisher 55A(เวอร์ชันหลังๆ), Scott LK-150(stereo) หลอด 6550 มีความทนทาน และราคาถูก บรรดาวิศวกรเลยนำเอาไปใช้ในวงจรเซอร์โวสำหรับขับมอเตอร์เทปของคอมพิวเตอร์ เนื่องจากคาโธดสามารถจ่ายกระแสได้ถึง 175mA แถมหลอด 6550 ยังจ่ายกระแสได้มากเหมือน 6AS7 มีประสิทธิภาพในการเรกูเลตกระแสได้ดี และมีเสถียรภาพสูง ทำให้นิยมใช้หลอด 6550 เป็นหลอดเรกูเลเตอร์ในภาคจ่ายไฟกันอย่างกว้างขวาง หลอด Tung-sol 6550 มีอยู่ 3 เวอร์ชันคือ: แบบที่ 1 เพลททึบมีเก็ตเตอร์บนอันเดียว, แบบที่ 2 เพลทมีรูมีเก็ตเตอร์บนอันเดียว และแบบที่ 3 มีเก็ตเตอร์บน และเก็ตเตอร์ข้าง เพลทมีรู (แบบที่ 3 มักจะนำไปรีแบรนด์เ็ป็น Raytheon, RCA, Sylvania เป็นต้น) โดยทั่วไปแล้วแต่ละเวอร์ชันไม่มีนัยทางเสียง แต่แบบที่ 1 จะเป็นที่ต้องการของนักสะสมหลอดมากที่สุด

หลอด 6550 ของ Tung-sol ได้ครองอันดับหลอดเพาเวอร์ที่ดีที่สุดอยู่ได้หลายปี แต่ในปี 1957 คู่แข่งของหลอด 6550 ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นที่อังกฤษ Marconi-Osram Valve Co. แห่ง Hammersmith กรุงลอนดอน ได้ผลิิตและจำหน่ายหลอด KT66 และ KT77 มานมนานภายใต้ยี่ห้อ Genalex ได้พัฒนาหลอด KT88 ที่ปรับปรุงขึ้นมาให้มีกำลังสูงขึ้น เพื่อใช้แทนหลอด 6550 ในแอมป์ไฮไฟ เวอร์ชันแรกๆของ KT88 ทรงหลอดจะเป็นทรง ST คล้ายๆกับหลอด 6550 Tung-sol ซึ่งใช้ทรงนี้เพียงช่วงเวลาสั้นๆก่อนจะกลับไปใช้ทรงถังเบียร์แบบเดิม
แอมป์หลอดยอดนิยมของอังกฤษตัวแรกที่ใช้หลอด KT88 ก็คือแอมป์หลอด 50W ของ Leak TL50+ ในปี 1957 ส่วนแอมป์ของอเมริกาจะเป็น Dynaco Mark III ตามมาด้วย Harman-Kardon Citation II, McIntosh MC75 และ MC 275 และแอมป์กีตาร์ของ Marshall ที่ผลิตในปี 1967 จะเป็นแอมป์กีตาร์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ใช้หลอด KT88 ถึงสี่หลอด ทำงารที่แรงดัน 650V กำลังขับสูงถึง 200W ในยุคนั้นหลอด 6550 ที่ทำงานด้วยแรงดัน 550V ในโหมดไตรโอด หรือโหมดอัลตราลิเนียร์ เรียกได้ว่าหืดขึ้นคอแล้ว ในขณะที่หลอด KT88 ทำงานได้สบายๆ

ในช่วงปี 1960 เรียกได้ว่าได้กำหนดมาตรฐานเบอร์หลอดให้กับเพาเวอร์แอมป์ไปแล้ว ผู้ผลิตหลอดยักษ์ใหญ่คงจะทนอยู่เฉยไปไม่ได้แล้ว ทาง GE ก็เริ่มพัฒนา 6550A ขึ้นมาในปี 1971 ที่เรียกเบอร์หลอดว่า 6550A เพราะต้องการแนะนำโรงงานผลิตวัสดุทำเพลทโลหะพิเศษโดย Taxas Instrument แผ่นโลหะชนิดนี้ผลิตขึ้นจากไส้ในที่เป็นทองแดง และเหล็กที่หุ้มด้วยอลูมิเนียม ทำให้ได้เพลทของหลอดที่มีเสถียรภาพในการไบอัสสูงมาก เพลทที่ทำจากแผ่นโลหะหุ้มนี้จะถ่ายเทความร้อนออกมาได้ดี ลดโอกาสเกิดความร้อนสะสมเป็นจุดบนเพลท

หลอด KT88 ในเวอร์ชันหลังๆก็ได้รับอิทธิพลจากการออกแบบเพลทของ GE และใช้เพลทที่เป็นโลหะหุ้มเช่นกัน โดยมากจะเป็นหลอดที่ผลิตโดย MOV หลอด 6550A ของ GE จะมีด้วยกันสองเวอร์ชัน แบบแรกจะเป็นเพลทที่ดูหยาบๆเชื่อมเพลทโดยใช้การเชื่อมแบบจุด ส่วนอีกแบบจะผลิตออกมาหลังปี 1979 จะใช้วิธียึดเพลทโดยการปั้มพับ โดยทั่วไปทั้งสองเวอร์ชันไม่แตกต่างกัน แต่คุณภาพหลอดค่อยๆลดลงหลังจากปี 1980 จนมาถึงปี 1984 GE ได้แยกหน่วยงานผลิตหลอดออกมาเป็นบริษัท MPD ยังคงดำเนินการผลิตหลอด 6550A ต่อมาเรื่อยๆจนถึงปี 1991

Sylvania ก็ต้องการมีส่วนร่วมเช่นกัน จึงพัฒนา 6550A ของตนขึ้นมาในปี 1970 ตัวหลอดจะผอมและสูงกว่าหลอดของ GE ไมกาก็ต่างออกไป แต่ตัวเพลทเหมือนกับ GE มากคือเป็น เพลทที่ดูหยาบๆใช้การเชื่อมเพลทแบบจุด ถ้าพิจารณาหลอดจริงๆมันก็ดูเหมือน 6L6GC หรือ 6CA7 ของ Sylvania ที่มีฐานเป็นเหล็กรัด บรรดาเซียนหลอดก็ฟันธงเลยว่าจริงๆแล้วมันก็เป็นหลอดที่ให้ GE ผลิตให้นั่นเอง!! แอมป์กีตาร์ที่ผลิตในช่วงปี 1980 ถ้าเปิดมาจะเจอหลอด 6550A Sylvania แต่หลอด Sylvania 6550A ก็ไม่ประสบความสำเร็จทางการตลาดมากเท่ากับ GE เพราะหลังปี 1980 ก็ไม่เห็นมีหลอด Sylvania 6550A ที่มี Date code เกินปี 1984 อีกเลย เว้นแต่จะเป็นหลอดที่ถูกรีแบรนด์เป็น RCA หรือ Westinghouse

หลอด 6550 และ KT88 ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในแอมป์ไฮเอ็นด์ที่ผลิตในช่วงปี 1970-1980 รวมไปเกือบทุกรุ่นของแอมป์ไฮเอ็นด์ดังๆอย่าง Audio Research, Conrad-Johnson, Theta และ MFA แอมป์หลอดของ Jadis ในปี 1983 ก็ออกแบบให้้ใช้หลอด KT88 โดยกำหนดจุดทำงานหลอด KT88 ให้เป็นคลาสส์เอทุกหลอด หรืออภิมหาแอมป์หลอดอย่าง Carver Silver Seven ที่ใช้หลอด 6550 ข้างละ 15 หลอด (14 หลอดเป็น Parallel Push-pull อีก 1 หลอดเป็นเรกูเลเตอร์สำหรับสกรีนกริด) กำลังขับถึง 375W

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ในช่วงเวลานั้นแอมป์กีตาร์ Marshall ก็ใช้หลอด 6550A ทุกเครื่องแทนที่จะเป็นหลอด EL34 แต่พอถึงปี 1980 ก็กลับไปใช้ EL34 เหมือนเดิม เพราะถึงแม้ 6550A จะให้่เสถียรภาพดีกว่า แต่ก็ไม่ได้ให้เสียงบดขยี้ได้เอกลักษณ์ของ Marshall เหมือน EL34 อย่างที่นักกีตาร์ต้องการ แต่ยังคงมีรุ่น Mark III ที่ยังคงอยู่ให้ย้ำถึงความนิยมของหลอดเบอร์นี้ ยังไม่ได้กล่าวถึง McIntosh ก็คงจะไม่ได้ เพราะมีแอมป์ที่ใช้หลอดกลุ่มนี้อย่างเช่นรุ่น MC60s, MC75s, MC260s และ MC275s, แอมป์ของ Heath W-6s, แอมป์กีตาร์ของ Peavy VT series, แอมป์ Ampeg รุ่น SVT ในยุคหลังก็เปลี่ยนมาใช้หลอดกลุ่มนี้่เช่นกันในช่วงปี 1970 โดยออกมาเป็น V Series, ส่วนค่าย Fender ก็นำมาใช้ในแอมป์ PA, แอมป์ของ Hiwatt 400 และยักษ์ใหญ่ Mesa-Boogie Bass-400 ยังไม่นับเครื่องที่นำเอาหลอด 6550 ไปใช้เป็นหลอดเรกูเลเตอร์อีกด้วย


อย่าลืมว่าช่วงเวลาดีๆก็มีที่สิ้นสุด ท้ายสุดแล้วก็มีหลอดถูกๆออกมาขายแข่ง ทำให้่ Tung-sol หยุดการผลิตลงในปี 1970, Sylvania หยุดในปี 1988 และ GE/MPD ผลิต 6550A ต่อมาจนถึงกรกฎาคมปี 1991 ผลการยุติผลิตมาจากหลอด 6550 ราคาแสนถูกจาก Shuguang นั่นเองที่เริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ปี 1980 แต่คุณภาพหลอด Shuguang ในยุคแรกๆยังไม่ได้ดีนัก เสียง่าย วัสดุทำคาโธดยังไม่ดี แต่ทรงหลอดที่เหมือนกับ Tung-sol ทำให้ดีเลอร์หัวใสนำไปรีแบรนด์เป็๋นยี่ห้อดังๆแล้วขายหั่นราคาแบบครึ่งๆของ ราคาหลอด GE/MPD 6550A (ระวังหลอด 6550 Shuguang ที่ถูกรีแบรนด์เป็น Amperex และ Philips) กว่าผู้ผลิตแต่ละรายจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว

Shuguang ได้เริ่มผลิต KT88 ของตนเองออกมา ซึ่งมันคือการเอา 6550 ของตนมาใส่ในหลอดที่โตขึ้นกว่าเดิม แล้วทำรูปร่างหลอดให้เหมือนกับ KT88 เท่านั้นเอง แต่การที่ MOV/Genalex ยุติการผลิต KT88 ไม่ได้มาจากการแทรกแซงตลาดของ Shuguang หลอด KT88 ของ Shuguang ปัจจุบันถูกนำไป OEM เป็น RAM Labs, Groove Tubes, Audio Glassic/R&G ในที่สุดหลอด 6550 และ KT88 ก็เข้าครอบครองตลาดทั้งหมด ผลักดันให้ Shuguang เองต้องปรับปรุงคุณภาพการผลิตหลอด แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของผู้่ผลิตแอมป์รายใหญ่ๆอย่าง Marshall Major และตามด้วยความนิยมในแอมป์ของ Jadis JA-200 และ JA-80 ในปี 1990 ทำให้ตลาดการ OEM หลอดขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ Nationnal/Richardson KT88, Golden Dragon 6550 และ KT88, Svetlana 6550 และ Teslovac KT88 ผลิตหลอดป้อนแทบไม่ทัน

 

บทสรุป
หลอด 6550 Tung-sol ยังคงประสิทธิภาพเยี่ยมในทุกด้าน เป็นเหตุผลยืนยันว่าทำไมหลอด Tung-sol จึงเป็นที่ต้องการ และหายากขึ้นเรื่อยๆจวบจนทุกวันนี้ ในปี 1961 Harman-Kardon ไ้ด้ร่อนจดหมายถึงดีลเลอร์ว่า 6550 Tung-sol เหมาะกับการใช้งานมากกว่า KT88 เพราะกระแสกริดคงที่กว่า ทำให้จุดไบอัสมีเสถียรภาพมากกว่าในแอมป์ Citation II สำทับด้วยว่าควรใช้แทน KT88 ในแอมป์ Citation II
หลอดของ Tung-sol ได้รับความนิยมมาเป็นเวลากว่า 10 ปี และมีหลงเหลืออยู่ในสต๊อกของผู้่จำหน่ายหลายๆราย แต่ราคาหลอดในทุกวันนี้ก็ได้ทยานขึ้นสูงมาก อย่างหลอด NOS ของ Tung-sol ก็เกินหลอดละห้าพันเข้าไปแล้ว