คำถามพื้นๆคือ ทำไมหลอด NOS ถึงได้ดีกว่าหลอดที่ผลิตใหม่? ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานแล้ววิทยาศาสตาร์รุดหน้า และเทคโนโลยีก็ล้ำกว่า ทำไมเราสร้างหลอดให้ดีเหมือนเดิมไม่ได้? การผลิตหลอดในอดีตกุมความลับอะไรไว้หรือ? กับหลอดเครื่องเสียงที่ดูจะเป็นงานอดิเรกมากกว่าจะเป็นอุตสาหกรรม ผู้จำหน่ายหลอดหลากหลายจากบริษัทเล็กๆ ได้พยายามปรับปรุงคุณภาพหลอดที่ตนมี พยายามผลักดันให้โรงงานผลิตหลอดปรับปรุงหลอดเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ แต่ก็ดูจะเป็นการยากที่จะเข้าถึงเสียงในแบบหลอด NOS ได้ ลองมาพิจารณาปัจจัยต่างๆเหล่านี้ว่าทำไมหลอด NOS ถึงได้ดีกว่า
- คาโธด
ตัวการหลักที่ทำให้หลอดสามารถเปล่งเสียงได้นั่นคือ ความสามารถในการปล่อยอิเล็คตรอนของคาโธดอย่างมีประสิทธิภาพ คาโธดแบบเคลือบออกไซค์สร้างจากโลหะผสมนิเกิลเคลือบด้วยผงที่เป็นส่วนผสมของ แบเรียม (Barium) และสโตรนเตียมคาร์บอเนต (Strontium Carbonate บางครั้งก็เป็นแคลเซียม) ชุบด้วยสารเหลว ผสมผสานกับส่วนผสมหลายๆอย่าง บรรจุคาโธดลงในหลอดแก้วที่มีปั๊มดึงอากาศออกให้เป็นสุญญากาศ ผ่านขดลวดเหนี่ยวนำที่ทำให้คาโธดร้อนจนแดงเหมือนเหล็กเผาไฟ ทำให้ผงแบเรียม/สโตรนเตียมที่เคลือบอยู่หลอมละลายเป็นออกไซค์เกาะเหมือนกับ ขี้เกลือบนโลหะแกนกลาง หลังจากนี้หน้าที่หลักของคาโธดคือปลดปล่อยอิเล็คตรอนออกมา ส่วนผสมและขั้นตอนเหล่านี้มีผลต่อประสิทธิภาพของคาโธด โดยเฉพาะส่วนผสมเคมีตั้งแต่เริ่มทำคาโธด ตัวอย่างเช่นถ้าใช้ซิลิเกตจะมีระดับต่ำกว่า 100ppm (ความเข้มข้นของสารละลายที่มีตัวถูกละลายจำนวนน้อยมากๆ ppm= part per million) เมื่อมาทำเป็นคาโธดก็จะมีผลทำให้ความต้านทานเพลทสูง และค่าทรานส์คอนดัคแตนซ์ต่ำ
กระบวนการทำสุญญากาศก็มีผลที่ทำให้ออกไซค์ที่เคลือบอยู่กับคาโธดเสียหายได้ ตอนเผาเก็ตเตอร์ในขบวนการทำสุญญากาศก็ปรับปรุงให้เพิ่มโลหะผสมเข้าไปอย่าง เช่น นิเกิล+โคบอลต์, เซอร์โคเนียม และทังสเตน
การลดส่วนผสมอย่างเช่น คาร์บอน และแมงกานิสก็ทำให้ความสามารถในการปล่อยอิเล็คตรอนลดลง ที่ต้องลดลงก็เพื่อลดการเกิดออกซิเจนในกระบวนการหลอมนิเกิล ใช้โลหะผสมอื่นก็ไม่ทนทานเช่นถ้าใช้แกนเป็นอลูมเนียมออกไซค์เคลือบจะหลุด ง่ายมาก
การสร้างคาโธดให้ดีต้องการเกรดสารเคมีสำหรับใช้เป็นสารที่ใช้เป็นตัวกระทำ ปฏิกิริยา ในอดีตโรงงานผลิตหลอดยินดีจ่ายพิเศษเพื่อให้ได้สารเคมีที่มีความบริสุทธิ์ มากๆ บริษัทอย่างเช่น Western Electric, International Nickel, Superior Tube, และ Driver-Harris สามารถผลิตคาโธดที่มีคุณภาพและมีความบริสุทธิ์มาก พอกาลเวลาเปลี่ยนไปหลายบริัษัทหันไปผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำแทน เหลือเพียงโรงงานไม่กี่แห่งที่สามารถผลิตคาโธดเองได้ แต่สารเคมีเกรดอุตสาหกรรมต้องสั่งซื้อมาจากจีน และรัสเซีย ถ้าผู้่ผลิตเคมีแอบปลอมปนเกลือมากับแบเรียมเพื่อให้ได้น้ำหนักมากขึ้น คาโธดที่สร้างขึ้นก็ไม่บริสุทธิ์เหมือนเดิมแล้ว หรือถ้าต้องการสารเคมีัที่บริสุทธิ์มากๆโรงงานผลิตเคมีก็ไม่้ได้สนใจที่จะ ผลิตให้ เพราะจำนวนสั่งซื้อน้อยมาก ไม่คุ้มค่ากับการผลิต
อายุการใช้งานของคาโธดสามารถเพิ่มได้โดยการเคลือบทับออกไซค์ด้วยแมกนีเซียม คาร์บอเนต ก่อนทำการประกอบหลอด ผลของการเคลือบทำให้อายุการใช้งานในการปล่อยอิเล็คตรอนของคาโธดเพิ่มขึ้น แตปฏิกิริยาของเคมีที่เคลือบยังไม่สามารถทำเข้าใจแม้ในทุกวันนี้่ เนื่องจากขบวนการพิเศษนี้ได้ถูกละเลยมาตั้งแต่อดีตที่มีการ OEM กัน แต่ละโรงงานก็ลดขั้นตอนนี้เพื่อลดกระบวนการลดต้นทุนลง ส่งผลให้อายุการใช้งานของคาโธดลดต่ำลง
2.การควบคุมคุณภาพ
ในทุกวันนี้เราการขาดความเข้าใจหลักจรรยาบรรณที่ยึดถือมากันตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ และขาดการมีปฏิสัมพันธ์ภายในกระบวนในการผลิตของปี 1950 กระบวนการทำงานจะเป็นกิจวัตร เน้นเรื่องเวลา เน้นไปที่จำนวนการส่งมอบ เน้นเรื่องระดับคุณภาพ เจ้าของโรงงานผลิตจะมีส่วนร่วมกับกระบวรการทำงาน เอาใจใส่ในขบวนการทำงาน แม้จะทำงานกันหามรุ่งหามค่ำก็จะเห็นไมตรีระหว่างเจ้าของกับผู้ปฏิบัติงาน อย่างเช่น Fisher 500C ครั้งหนึ่งต้องนั่งประกอบกันบนเรือระหว่างส่งมอบ คนจำนวน 50 คนช่วยกันประกอบทั้งเจ้านายและลูกน้องอย่างไม่รู้จักเหนื่อย เป็นต้น
ในขณะที่โรงงานผลิตหลอดป้อนให้กับลูกค้าซึ่งไม่ใ้ช่เราๆท่านๆ แต่จะเป็นผู้ผลิตแอมป์หลอดรายใหญ่ๆเช่น Fender, Marshall, Audio Research และ McIntosh ผู้ประกอบการเหล่านี้อยากเห็นอย่างเดียวคือ ต้นทุนหลอดที่ถูกลง
แรงกดดันที่ต้องการรักษาระดับราคาให้ต่ำลงทำให้ผู้ผลิตไม่เน้นให้หลอดมีความ คงทน หรือผลิตหลอด 300B หรือ KT88 คุณภาพสูงๆออกมา และไม่ยอมเพิ่มต้นทุนในการสั่งสารเคมีสำหรับผลิตคาโธดที่มีคุณภาพดีขึ้น หลอดนำเข้าราคาถูกๆเป็นประเด็นทั้งในเรื่องของคุณภาพหลอด คุณภาพเสียง และเสถียรภาพ แม้เราจะรู้ๆกันอยู่แล้วว่าหลอด NOS คุณภาพดีกว่า เสียงดีกว่า และเสถียรภาพดีกว่า แต่ไม่ใช่วิถีที่ผู้ผลิตแอมป์หลอดจะเลือก
การพันกริดเป็นตัวอย่างที่ดี การประกอบกริดจะใช้เครื่องคล้ายๆเครื่องกลึงที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ สามารถทำการพันลวดกริดในระยะห่างเพียง 0.00005 นิ้ว (50 ไมครอน) หรือดีกว่าได้ แต่โรงงานผลิตหลอดในปัจจุบันกลับใช้เพียงเครื่องมือของรัสเซียที่ผ่านการใช้ งานมาตั้งแต่ปี 1960 โดยไม่มีการปรับแต่งหรือปรับปรุงใดๆเลย
ซึ่งการเอาใจใส่ต่อการสร้างกริดเป็นเคล็ดลับที่ทำให้หลอดมีความเพี้ยนต่ำได้ ถูกละเลยไป โดยมีความเร่งรีบ และต้นทุนการผลิตบีบบังคับ เชื่อหรือไม่ว่าในปี 1920 วิศวกรของ RCA สามารถพันกริดของหลอด medium mu ให้สามารถแบ่งครึ่งแล้วเทียบกันเท่ากันเหมือนเงาสะท้อนในกระจก
ลองถอดกริดจากหลอดเก่าๆในยุึคสงครามโลกครั้งที่สอง จากหลอด 6SN7W และกริดจากหลอดที่ผลิตใหม่จากรัสเซียเบอร์ 6SN7 เหมือนกัน ส่องขยายด้วยกล้องไมโครสโคปกำลังขยาย 25 เท่า จะพบความแปลกใจว่ากริดของหลอดผลิตใหม่สร้างได้หยาบ และพันอย่างไม่มีระเบียบเหมือนกับหลอดเก่าๆ ซึ่งการพันกริดจะมีผลโดยตรงต่อความเพี้ยน และการตอบสนองต่อสัญญานแบบทรานเีชียนส์ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเคล็ดลับการพันกริของวิศวกร RCA ละ? เคล็ดลับเหล่านั้นถูกเก็บในลิ้นชักเอกสารในโรงงาน Harrison ปี 1977 และถูกไฟไหม้ไปแล้วเรียบร้อย
- ทัศนคติ
ถ้าลองมองกลุ่มผู้บริโภคหลอด NOS ดูสามารถแบ่งได้ดังนี้ กลุ่มออดิโอไฟล์ที่เป็นนักลัทธิสมบูรณ์แบบ (Perfectionist Audiophile) และมือกีตาร์รุ่นเก๋า แต่จากข้อมูลทางสถิิติแล้วกลุ่มผู้บริโภคหลอดที่อายุ 14-25 ปีจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่ามาก และมักจะเชื่อความคิดเห็นจากคอลัมภ์นิสต์ และโฆษณา
กลุ่มออดิโอไฟล์ที่เป็นนักลัทธิสมบูรณ์แบบ และมือกีตาร์รุ่นเก๋า โดยมักจะเป็นชายอายุ 40-60 ปี เชื่อมั่นในหลอด NOS รู้และเข้าใจในศาสตร์แห่งอะคูสติค และอิเล็คทรอนิกส์ ในขณะที่กลุ่มออดิโอไฟล์ทั่วไปจะเชื่อมั่นในการลงทุนกับระบบ จำกัดด้วยความรู้เรื่องอะคูสติค และอิเล็คทรอนิกส์ เชื่อมั่นในความคิดเห็นของคอลัมภ์นิสต์มักพก Stereophile และ The Absolute Sound เป็นคู่มืออ้างอิง โดยเชื่อว่าเป็นข้อคิดเห็นที่เื่ชื่อถือ และอ้างอิงได้
ความปริศนาของหลอด NOS ได้ทวีเพิ่มเข้าไปอีกโดยนักเลงหลอดชาวญี่ปุ่น อย่างเช่น MJ, Stereo Sound และ Radio Gyjiutsu ในช่วงปี 1980 บทความของ MJ เกี่ยวกับแอมป์หลอดทำมือ ที่ผ่านการวัดค่า และแสดงคุณสมบัติ ได้เติมข้อเท็จจริงบางอย่างกับ นักเลงหลอดชาวญี่ปุ่นให้ทราบว่าคุณภาพของหลอดเครื่องเสียงได้ลดค่าลงตั้งแต่ ปี 1960 แล้ว อย่างเช่น Western Electric 300B ที่นักเลงหลอดแดนปลาดิบคลั่งไคล้เอามากๆ จนราคาหลอดไต่สูงจนสุดจะเอื้อม
แม้กระทั้งการรีวิวหลอดของ VTV เองก็มีผลต่อหลอด NOS ด้วย ตัวอย่างที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือหลอด Sylvania VT-231 ฐานเหล็ก สกรีนเขียวที่ฐาน สามารถขายได้มากกว่า $150 ซึ่งเราได้ให้ความเห็นว่าเป็นหลอดที่เสียงดีเยี่ยมใน VTV#11 และทำนองเดียวกันกับ 6SN7 Ratheon 1950 และ Mullard CV181 1952
เช่นใน VTV#14 ทำการรีวิวหลอด 12AX7 ไปแล้ว แม้จะได้ให้ความเห็นว่าหลอด Raytheon Black Plate เป็นหลอดที่เสียงดีมาก แต่ก็มือกีตาร์ก็ยังถวิลหา Mullard และเหล่าออดิโอไฟล์ก็ยังครวญหา Telefuken Smooth Plate อยู่ดี
ยังไม่นับความล้มเหลวก็ของ reissue WE300B ที่ทำตลาดในญี่ปุ่นในปี 1998 ผลิตหลอดชั้นยอด แพ็คเกจเยี่ยม โหมโฆษณาอย่างหนัก รวมถึงเครือข่ายดีลเลอร์หลอดที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่พอเจอข้อคิดเห็นเพียงสองสามบรรทัดโดย Tadaatsy Atarashi แห่ง Stereo Sound เมื่อเทียบความชัดเจนกับหลอด NOS 300B แล้วหลอด reissue ยังห่างชั้นอีกหลายขุม (เราได้ทำการทดสอบหลอด 300B ใน VTV#3 และ VTV#8 พบว่าคุณสมบัติหลอดผลิตใหม่กับหลอด NOS เหมือนกันทั้งทางไฟฟ้า และทางเสียง) ผลที่ตามมาคือบริษัทที่พยายามจะชุบชีวิต Western Electric 300B ต้องล้มไม่เป็นท่าจากตลาดญี่ปุ่น