พื้นฐานการทำงานของโทนอาร์มก็คือนำพาหัวเข็มวิ่งผ่านร่องเสียงจากแทร็คแรกไปถึงแทร็คสุดท้ายเท่านั้นเอง แต่การทำหน้าที่ง่ายๆนี่ก็ไม่ง่ายนักเมื่อต้องผ่านปัญหาทางกายภาพ และปัญหาอะคูสติคนานับประการ อาร์มที่ดีที่สุดล้วนออกแบบมาเพื่อให้แก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ โทนอาร์มจะต้องทำหน้าที่ควบคุมแรงกดของปลายหัวเข็มให้เหมาะสม นำพาปลายของหัวเข็มอยู่ในองศาที่เหมาะสมตลอดร่องเสียง และปราศจากการเรโซแนนซ์ที่ความถี่ใดๆอันจะเกิดผลการทำงานระหว่างหัวเข็มกับ แผ่นเสียง จึงมีเพียงโทนอาร์มที่ดีเท่านั้นจึงจะนำพาเสียงเพลงที่ปราศจากความเพี้ยนและ เสียงรบกวนต่างๆปนมากับเสียงเพลง นั่นเป็นเพียงอุดมคติ แต่โทนอาร์มที่จะกล่าวถึงนี้เป็นโทนอาร์มวินเทจที่น่าสนใจ และผ่านการนำมาเล่น เพื่อให้ได้บรรยากาศเสียงในแบบดั้งเดิมในยุคเดียวกับเพลงที่ฟัง
Audax KT-12,KT-16 เป็นโทนอาร์มที่ออกแบบมาสำหรับใช้กับหัวเข็ม Audax แต่ก็มีอะแด็ปเตอร์สำหรับใช้ติดตั้งกับหัวเข็มไฮไฟอื่นๆ เป็นอาร์มยาวมีฐานที่เป็นจุดหมุนแนวตั้งเป็นปลายแหลมสองด้านในตัวอาร์ม จุดหมุนแนวนอนที่ฐานอาร์ม ตัวอาร์มจะมีตุ้มน้ำหนัก (Counterweight) สำหรับปรับแรงกดให้เหมาะสมกับหัวเข็ม ทั้งสองรุ่นต่างกันที่ความยาวของโทนอาร์ม KT-12 ความยาวโทนอาร์มหัวจรดท้าย 12” ระยะติดตั้ง 222.25 มม. และ KT-16 ความยาวของโทนอาร์มหัวจรดท้าย 16” ระยะติดตั้ง 290.5 มม.
Clarkstan มีสองรุ่นคือ 212 (ระยะจุดหมุน 12″) 213 (ระยะจุดหมุน 9″) โทนอาร์มที่ออกแบบมาสำหรับนักเล่นที่ชอบเปลี่ยนหัวเข็มบ่อยๆ โดยออกแบบให้สามารถสไลด์หัวเข็มเข้าออกยึดโดยใช้สกรูล็อกเพียงตัวเดียว โดยมีหน้าสัมผัสกับขั้วต่อของหัวเข็มเป็นแบบสปริง การตั้งน้ำหนักสามารถทำได้ง่าย และรวดเร็ว สามารถใส่หัวเข็มทั่วไปได้ กลไกเรียบง่ายใช้ตลับลูกปืนสำหรับการเคลื่อนที่ในแนวตั้ง และใช้ลูกปืนที่จุดหมุนสำหรับการเคลื่อนที่ของหัวเข็ม เป็นอาร์มที่มีเรโซแนนซ์ต่ำมากให้การตอบสนองเสียงเบสส์ได้ดี
ESL หรือ Electro-Sonic โทนอาร์มที่ออกแบบ และผลิต มาเพื่อใช้งานกับหัวเข็ม MC ของ ESL เอง งานสร้างปราณีต โครงสร้างเรียบง่ายมีเพียงตุ้มปรับน้ำหนักเพียงตัวเดียวที่ท้ายของโทนอาร์ม เนื่องจากหัวเข็มของ ESL เองเป็นแบบ MC จึงต้องการ Step-up Transformer ในการใช้งานด้วย มีอยู่หลายรุ่นด้วยกัน ภายหลัง ESL ได้เปลี่ยนมาเป็น Ortofon ที่นักเล่นรู้จักกันเป็นอย่างดี
Fairchild Model 280 เป็นโทนอาร์มแบบ dual mass ใช้การถ่วงน้ำหนักในแนวตั้งแทนการแดมป์ เพื่อแก้ปัญหาการเรโซแนนซ์ที่ความถี่ 166-200 Hz ทำให้เสียงเบสส์ของอาร์มรุ่นนี้สะอาดมาก โทนอาร์มสามารถปรับระดับความสูงให้เหมาะสมได้ ระบบตั้งน้ำหนักหัวเข็มแบบสปริง ปกติอาร์มของ Fairchild จะใช้กับหัวเข็มของตัวเองเท่านั้น แต่ในรุ่นตั้งแต่ 280 สามารถใช้งานกับหัวเข็มทั่วไปได้เลย รวมถึงหัวเข็มของ GE Triple-play
GE Model A1-500 โทนอาร์มที่ออกแบบจากแนวคิด Dual Mass โดยมีก้านอาร์มสองแกนทำหน้าที่ชดเชยแรงกระทำซึ่งกันและกันในการแดมป์อาร์ม การปรับแต่งโทนอาร์ม ปรับตุ้มน้ำหนัก จะอยู่ด้านหน้าของโทนอาร์ม ทำให้ไม่ต้องใช้สปริงในการปรับน้ำหนัก และใช้ลูกปืนสำหรับจุดหมุนของอาร์ม A1-500 เรียกอีกชื่อว่า GE Baton ระยะอาร์มของ A1-500 เท่ากับ 9″ แต่ถ้าเป็นรุ่น A1-501 จะปรับความยาวอาร์มได้ในระยะ 9″-12″ มีอาร์มญี่ปุ่นทำเลียนแบบ GE เหมือนกันเป็นแต่จะเป็นยี่ห้อ NEAT
Gray Model 108C เป็นอาร์มที่ใช้ระบบซัสเพนชันแบบ viscous damping หรือใช้น้ำมันที่มีความหนืดประมาณ 300,000-600,000 cSt เป็นตัวช่วยป้องกันการเรโซแนนซ์ของอาร์ม และหัวเข็ม การแดมป์อาร์มใช้น้ำมันซิลิโคนเป็นฟิลม์บางๆระหว่างผิวทรงกลมคล้ายกระดูกสะโพกของอาร์ม และฐานที่มีรูปทรงคล้ายกับเบ้ากระดูกสะโพก ถ้าลองวางหัวเข็มลงจะพบว่ามันจะค่อยๆเลื่อนลงร่องเสียงอย่างนุ่มนวล นักเล่นเรียกการเซ็ตอัพนี้ว่า “Perfect 2 Second Drop” สามารถเปลี่ยนใช้หัวเข็มสลับไปสลับมาได้อย่างง่ายดาย โดยอาร์มจะทำหน้าที่ัรักษาแรงกดที่ตั้งไว้โดยอัตโนมัติ มีอาร์มญี่ปุ่นทำเลียนแบบโดย NEAT แต่จะมีทั้งยี่ห้อ NEAT และตีเป็นยี่ห้ออื่นๆด้วยเช่น Lafayette, Grace, Music Master, Calrad, Velvet Touch ซึ่งเสียงดีไม่แพ้ Gray
Gray 106SP เป็นอาร์มแบบใช้จุดหมุนแนวนอนที่ฐาน จุดหมุนแนวนตั้งที่ตัวอาร์ม ใช้สปริงเป็นตัวกำหนดแรงกดของหัวเข็ม ขนาดอาร์มใหญ่โตขึงจัง นักเล่นเรียกกันติดปากว่า “อาร์มจระเข้” ถ้าจะใช้งานกับหัวเข็ม GE แบบเปลี่ยนสลับหัวเข็มได้ด้วย ต้องเป็นรุ่น 103-LP จึงจะมีรูเจาะเพื่อสอดแกนสลับปลายเข็มขึ้นมาด้านบนได้
Livingston เป็นอาร์มที่ให้ความสามารถในการเกาะร่องเสียงได้ยอดเยี่ยม ปรับแรงกดของหัวเข็มได้อย่างถูกต้อง ปรับระดับความสูงของอาร์มได้ และติดตั้งได้ง่ายมาก (เจาะรูเพียงรูเดียวก็ติดตั้งได้แล้ว) มีทั้งรุ่น 16″ และ 12″ ระบบตั้งน้ำหนักหัวเข็มเป็นแบบสปริง ตัวอาร์มสามารถติดตั้งหัวเข็ม GE แบบเปลี่ยนสลับหัวเข็มได้ด้ว
Pickering 190 เป็นโทนอาร์มที่มีแนวทางการออกแบบที่โดดเด่นแตกต่างออกไป ใช้ระบบสปริงโหลดสำหรับปรับแรงกดหัวเข็ม ทำให้ลดระยะระหว่างปลายเข็ม กับมุมการเคลื่อนที่ทางแนวนอนลงมา 3″ มีระบบการแดมป์ที่ดี แผ่นสำหรับติดตั้งหัวเข็มสามารถถอดออกจากตัวอาร์มได้ สามารถปรับแผ่นติดตั้งหัวเข็มเพื่อลด Tracking Error ให้น้อยกว่า 2.5 องศา ที่พักอาร์มเป็นแม่เหล็กดูดตัวอาร์มไว้กับที่พัก เดิมออกแบบให้ใช้งานกับหัวเข็มของ Pickering เอง อาร์ม Pickerging 190 จะมีรุ่นปลีกย่อยอีกเช่น 190 ธรรมดา ท้ายอาร์มจะเป้นแท่งตรงๆเหมือนกับตัวของอาร์ม ส่วน 190D ท้ายอาร์มจะสั้นลง แต่เปลี่ยนไปใช้เป็นตุ้มน้ำหนักแทน
Grado Laboratory เป็นโทนอาร์มที่ตัวอาร์มทำจากไม้โรสวูด จะมีรุ่นปลีกย่อยอีกสองรุ่นคือ Laboratory Series ขนาดอาร์มจะเล็กกว่า ระบบบการตั้งน้ำหนักซับซ้อนกว่าอีกแบบ และรุ่น Micro Control ขนาดอาร์มจะใหญ่กว่าระบบการตั้งน้ำหนักจะเป็น Counter Weight ชิ้นเดียว สามารถใช้งานกับหัวเข็ม GE Tripple Play ได้
Weathers A-510-S เป็นโทนอาร์มที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานกับหัวเข็ม Weathers FM ที่ต้องการแรงกดเพียง 1 กรัมเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าหัวเข็มทั่วไป และอาร์มทั่วไปมาก มุมของหัวเข็มค่อนข้างสูง จึงมั่นใจได้ว่าไม่ทำอันตรายกับแผ่นเสียงคอลเล็ตชันสุดหวงของคุณได้ อาร์มทำขึ้นจากไม้บัลซาร์ที่ปราศจากการเรโซแนนซ์ แต่หัวเข็ม Weathers FM ก็ต้องใช้ปรีโฟโนของ Weathers ด้วยครับ เพราะใช้หลักการ Frequency Modulation ในการทำงานร่วมกับหัวเข็ม Weathers FM เท่านั้น
โทนอาร์มวินเทจส่วนใหญ่จะเป็นอาร์มโมโน สามารถนำมาเดินสายอาร์มใหม่ให้เป็นเล่นกับหัวเข็มสเตอริโอได้ แต่ต้องเลือกหัวเข็มที่สามารถรับแรงกดได้มากหน่อยอย่างเช่น Shure M3d SC35A, GE VR22 VR1000, Denon DL-102 เป็นต้น บางอาร์มจะออกแบบให้ใช้ได้กับหัวเข็มของตัวเองเท่านั้น แต่ก็สามารถดัดแปลงทำขายึดเพื่อใช้กับหัวเข็มอื่นได้เช่น Pickering 190D และ Weathers A-510-S เป็นต้น อาร์มน้ำมันส่วนใหญ่จะให้เสียงที่นุ่มหนาไปกันได้ดีกับหัวเข็ม GE Tripple Play, Denon DL-102 ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นโทนอาร์มวินเทจเพียงบางส่วนที่มีโอกาสได้เล่น คาดว่าน่าจะมีโทนอาร์มวินเทจที่หลับไหลรอนักเล่นปลุกให้มาร้องเพลงอีกครั้ง ถ้าท่านเจอโทนอาร์มวินเทจแปลกๆ ลองเอามาติดตั้งเล่นดูครับ ไม่แน่ว่าอาจจะเจอเพชรน้ำงามในอดีตที่จะเปล่งประกายได้อีกครั้ง